ปัจจุบันส้มโอเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดีมาก โดยเฉพาะสวนส้มโอที่ผลิตเพื่อการส่งออก แต่ปัญหาศัตรูพืชที่เป็นเรื่องใหญ่คือโรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นโรคพืชกักกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และออสเตรเลีย และเนื่องด้วยสถานะการณ์การระบาดของโรคไข้โควิด – 19 จึงส่งผลพวงมายังการค้า การส่งออก อีกทั้งการขาดแรงงานที่เป็นปัจจัยหลักของการทำสวนผลไม้ จึงทำให้โรคแคงเกอร์ของส้มโอทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการขาดแรงงาน และปัญหาการตลาด ก็คือ การลดมาตรการควบคุมโรคพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาสวนผลไม้ให้คงอยู่ และประคับประคองไปจนกว่าสถานะการณ์ภายนอกจะคลี่คลายลง
สาเหตุ
โรคแคงเกอร์ของส้มโอ มีสาเหตุจากแบคทีเรียชนิดเดียวกับส้มและมะนาว และพืชตระกูลส้มอีกหลายชนิด นั่นคือ แบคทีเรีย แซนโทโมแนส ซิไตร ซิไตร ที่ชอบอากาศร้อนชื้น
ลักษณะอาการ
ลักษณะอาการของโรค แบคทีเรียสาเหตุทำให้เกิดรอยแผลเป็นขุยสีสนิมบน ใบอ่อน กิ่งอ่อน ยอดอ่อน และผล แบคทีเรียใช้เวลานานประมาณ 7-10 วัน จึงจะแสดงอาการให้เห็น ผลส้มจะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายในช่วง 2 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มผสมเกสร ช่วงเวลาเริ่มระบาดจะตั้งต้นเมื่อเริ่มย่างฤดูฝน ในขณะที่ส้มโอแตกยอดใหม่ และมีฝนต้นฤดูโปรายปรายลงมา ช่วงที่ระบาดสูงสุดคือช่วงกลางฤดูฝน และลดโรคจะลดลงเมื่อ ฝนทิ้งช่วง หรือหมดฤดูฝนนั่นเอง
อาการที่พบบนใบ เป็นจุดนูนสีเหลือง ฉ่ำน้ำ ด้านใต้ใบก่อน แล้วขยายขึ้นมาบนหน้าใบ เป็นรอยนูนขึ้นจากผิวใบ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากนั้นแผลจะแห้ง แตก ขรุขระ อาจมีวงสีเหลืองล้อมรอบ หรือมีรอยไหม้สีน้ำตาลเข้มรอบแผล อาการที่พบบนผล พบจุดช้ำของไขมัน ที่อาจขยายตัว เป็นแผลปื้นสีเหลืองปนน้ำตาล หากพบอาการบนผลอ่อนอาจเห็นแผลเปียกเยิ้ม ในวันที่อากาศชื้น อาการบนกิ่ง ก้าน พบแผลเป็นขุยสีน้ำตาล นูนขึ้นจากผิวกิ่ง เมื่อแผลแห้ง ตกสะเก็ดเป็นแผ่นรอบกิ่ง หรือเป็นแผลขนาดใหญ่ 5-10 มิลลิเมตร เมื่อพบแผลขนาดดังกล่าวแสดงว่าการระบาดได้เกิดขึ้นมาแล้วป็นเวลานาน
วงจรชีวิตของสาเหตุโรค เมือกของแบคทีเรียที่เยิ้ม อยู่บนผิวพืช แพร่กระจายโดยน้ำฝนที่กระเด็นผ่านรอยแผล หากมีลมพัดแรง แบคทีเรียสามารถแพร่กระจายไปยังพืชต้นอื่นๆ ได้ไกลถึง 100 เมตร แบคทีเรียแทรกผ่านลงในปากใบพืช หรือผ่านรอยแผลบนผิว ที่อาจเกิดจากการกระแทกของเม็ดฝน รอยแผลจากเครื่องมือการเกษตร จากรอยกัดแทะ ดูด ของปากแมลง หรือแม้กระทั่งรอยชอกช้ำที่เกิดจากสารเคมีที่ทำความระคายเคืองต่อผิวส้มโอ โดยเฉพาะสารจับใบ การระบาดพบมากขึ้นในสวนที่มีการระบาดของหนอนชอนใบส้ม ถ้าอากาศแห้งเป็นเวลานาน แบคทีเรียจะพักตัวอยู่เงียบๆ จนกระทั่งถึงฤดูฝนที่มีความชื้นสูงและอากาศอบอ้าวขึ้น การระบาดก็จะเกิดขึ้นรอบใหม่
โรคแคงเกอร์ของส้มโออาจจะไม่ทำให้ใบส้มโอร่วง แต่ใบอาจแห้งกรอบ เหี่ยวเฉาในวันที่อากาศร้อน ผลอ่อนไม่เติบโต และร่วงได้ ผิวของผลที่เป็นโรคจะแห้ง กร้าน ไม่สวย ตลาดต่างประเทศไม่ต้องการ ส่งผลต่อการส่งออกโดยรวมของประเทศ และส่งขายได้เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น
แบคทีเรียสาเหตุแพร่ระบาดได้อย่างไร แบคทีเรียแพร่ระบาดจากรอยแผลบนพืช เมื่ออากาศชื้น โดยลม ฝน แมลง มนุษย์ที่นำเครื่องมือที่ปนเปื้อนออกไปใช้ที่อื่น หรือติดไปกับเสื้อผ้า รองเท้า นอกจากนี้หัวพ่นละอองน้ำก็เป็นตัวการสำคัญของการแพร่ระบาดในแปลงปลูกด้วย อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียสาเหตุไม่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ แต่ติดไปกับกิ่งตอน และตาที่นำไปเสียบกับพืชต้นอื่น
แนวทางการแก้ไข
การควบคุมโรคพืชตามมาตรการพื้นฐาน โดยกลับไปพิจารณาหลักการระบาดของโรค เมื่อโรคระบาดช่วงต้นฝน การตัดแต่งกิ่ง กิ่งผุที่เป็นที่อาศัยของโรค จึงควรกระทำให้เสร็จสิ้น และตาแตกใหม่จะต้องเกิดก่อนฝนตก และอยู่ในระยะเพสลาดในช่วงฝน ซึ่งช่อใบช่วงนี้จะทนทานต่อแบคทีเรียมากกว่าใบอ่อนที่เริ่มแตก หากเป็นพื้นที่ที่มีน้ำพอเพียงจะง่ายต่อการปฎิบิติมากกว่า
หลังการตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดสวนแล้ว แนะนำให้พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกลุ่มกำมะถัน เพื่อกำจัดแมลงปากดูด ไร และ ศัตรูพืชอื่นๆ ที่แอบซ่อนบริเวณซอกกิ่ง ตาที่แห้ง และรอยแตกบนลำต้น การพ่นสารกำมะถันนี้ควรทำปีละครั้ง
การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชกลุ่มสารปะกอบทองแดง สารกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีถึงดีมาก หากพ่นตรงตามอัตราแนะนำ ตรงเวลาที่เหมาะสม และตรงกับระยะการป้องกันที่คุ้มค่าที่สุด นั่นคือช่วงใบอ่อนก่อนเข้าใบเพสลาด และพ่นห่างกัน 7-10 วัน และหยุดพ่นได้เมื่อใบคลี่เต็มที่ เพราะผิวใบจะมีไข เคลือบการเข้าทำลายของแบคทีเรียได้พอควร
สวนที่สะอาดและไม่มีการระบาดของหนอนชอนใบส้ม จะพบโรคน้อยกว่าสวนที่รก ดังนั้น หลังการตัดแต่งกิ่ง ควรนำกิ่งที่มีการสะสมโรคนี้ออกไปให้มากที่สุด
ผลิตภัณฑ์แนะนำ
โคปิน่า 85 ดับบลิวพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ
ไอโรเน่ ดับบลิวจี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร