การจัดการหนอนกอข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

 

หนอนกอข้าว ทำลายข้าวตั้งแต่ช่วงระยะกล้าจนถึงระยะข้าวออกรวง ในแถบเอเชียมีรายงานการระบาดของหนอนกอข้าวหลายชนิด เช่น หนอนกอสีครีม;Scirpophaga incertulas หนอนกอแถบลาย;Chilo suppressalis หนอนกอสีชมพู;Sesamia inferens หนอนกอหัวดำหรือหนอนกอแถบลายสีม่วง (dark-headed stem borer); Chilo polychrysus และหนอนกอสีขาว;Chilo innotata ซึ่งหนอนกอสีขาวยังไม่มีรายงานในประเทศไทย หนอนกอสีครีมและหนอนกอแถบลายเป็นชนิดที่พบการทำลายมากที่สุด หนอนกอสีครีมสามารถทำลายจนเกิดความเสียหายของผลผลิตมากถึง 20%ในช่วงข้าวแตกกอ และ 80% ในช่วงข้าวออกรวง ในขณะที่หนอนกอแถบลายอาจทำลายรุนแรงจนผลผลิตเสียหายโดยสิ้นเชิง   มีรายงานว่ามีพืชตระกูลหญ้าหลายชนิดเป็นพืชอาศัยของหนอนกอเหล่านี้ เช่น ข้าวฟ่าง หญ้าปล้องหิน หญ้าตีนกา หญ้าชันกาด ข้าวป่า ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์  เป็นต้น

ลักษณะและการจำแนกการทำลายของหนอนกอข้าว (Damage symptoms caused by stem borers and How to identify):

หนอนกอข้าวแม้จะมีหลายชนิดแต่ลักษณะการทำลายในข้าวจะเหมือนกัน หนอนขนาดเล็กจะเจาะเข้าภายในซอกกาบใบ ก่อนที่จะเจาะเข้าไปในต้นข้าวบริเวณโคนกอข้าวเพื่อกัดกินผิวของผนังด้านในของลำต้น การทำลายลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการส่งอาหารจากลำต้นไปที่จุดเจริญ ซึ่งการทำลายจะเกิดอาการได้ 2 แบบ คือ อาการยอดเหี่ยว(dead heart)   และอาการข้าวหัวหงอก (white earhead)

  • อาการข้าวยอดเหี่ยว(Deadhearts or dead tillers) อาการนี้จะพบได้ในข้าวช่วงระยะแตกกอ อาการข้าวยอดเหี่ยวนี้เมื่อใช้มือดึงขึ้นต้นข้าวจะหลุดออกจากต้นได้โดยง่าย
  • อาการข้าวหัวหงอก (Whiteheads) จะเกิดอาการภายหลังข้าวออกรวงแล้ว การทำลายจะทำให้การเจริญของรวงข้าวชะงักการเจริญเติบโตส่งผลให้รวงข้าวเมล็ดลีบหรือไม่ติดเมล็ด ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนด้วยสายตาว่าจะเกิดข้าวเมล็ดลีบรวงเป็นสีขาว
  • นอกจากนี้อาจจะพบรูขนาดเล็กบริเวณโคนต้นข้าวที่ถูกทำลาย และพบมูลของหนอนบริเวณปากรูเจาะที่โคนกอข้าว

การจัดการหนอนกอข้าว (How to manage stem borer)

  1. วิธีเขตกรรม
    • ปลูกข้าวพันธุ์เบา หรือข้าวพันธุ์อายุสั้น สามารถลดจำนวนรุ่น(Generation)ของหนอนกอได้
    • ในพื้นที่บริเวณเดียวกันควรปลูกพร้อมๆกัน จะช่วยให้จำนวนรุ่นของหนอนกอลดลง การปลูกข้าวล่าช้ากว่าแปลงอื่นจะถูทำลายของหนอนกอมากขึ้น
    • เผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวรุ่นแรก ไขน้ำท่วมและไถดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซัง
    • ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนกอข้าว
    • ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ใบข้าวงามหนอนกอชอบวางไข่ ควรมีการแบ่งใส่หลายครั้ง
  2. วิธีกล
    • เก็บกลุ่มไข่ หรือตัดต้นที่พบหนอนกอไปทำลาย
    • ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัยและทำลาย เมื่อมีการระบาดรุนแรง
  3. การใช้ชีววิธี
    • การใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเจียนซีสที่เฉพาะเจาะจงกับหนอนผีเสื้อ
    • การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติโดยงดพ่นสารทางใบหากพบแตนเบียนไข่ และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าว เช่น แตนเบียนTrichogramma, Scelionid และEulophid)
  4. การใช้สารเคมี เนื่องจากหนอนกอเข้าทำลายที่โคนต้นข้าวการใช้สารเคมีจึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะถูกเป้าหมาย กรณีพ่นทางใบควรกดหัวฉีดไปที่โคนกอข้าว หรือโดยใช้ระบบคานหัวฉีด
    • ระยะแตกกอ ถ้ามีน้ำท่วมแปลง การใช้สารชนิดเม็ดหว่านป้องกันกำจัดหนอนกอได้แก่ กลุ่ม 2B ฟิโพรนิล 0.3%จี อัตรา 3กก.ต่อไร่ หรือกลุ่ม14 คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4%จี อัตรา 4 กก.สารผสมกลุ่ม14+1A คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์+ไอโซโพรคาร์บ 3+3%จี อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่
    • ระยะข้าวกำเนิดรวง(ตั้งท้อง)ถึงออกดอก การใช้สารชนิดเม็ดไม่ได้ผล ควรใช้วิธีพ่นสารทางใบ ระดับเศรษฐกิจ(Economic threshold)ที่ควรใช้สารเคมีคือ พ่นเมื่อพบอาการข้าวยอดเหี่ยวในระยะข้าวอายุ 3-4 สัปดาห์หลังหว่าน/ปักดำในระดับ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีพ่นทางใบ ใช้สารที่มีประสิทธิภาพ เช่น
      • กลุ่ม 6 อีมาเมกตินเบนโซเอต
      • กลุ่ม 13 คลอร์ฟีนาเพอร์
      • กลุ่ม 14 คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์
      • กลุ่ม 15 ลูเฟนนูรอน
      • กลุ่ม 22A อินดอกซาคาร์บ
      • กลุ่ม 28 คลอแรนทรานิลิโพรล
      • กลุ่ม 15+1B ลูเฟนนูรอน+โพรฟีโนฟอส