เตือนภัยการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว

หนอนหัวดำมะพร้าว (Coconut black-headed caterpillar) มีชื่อวิทยาศาสตร์: Opisina arenosella Walker เป็นศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศแห้ง กลางวันอากาศร้อน แดดจัดเหมาะสมต่อการแพร่ระบาดและมีรายงานสถานการณ์การระบาดในหลายพื้นที่

 

รูปร่างลักษณะ

ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวเพศเมียสามารถวางไข่ตั้งแต่ 49-490 ฟอง ตัวอ่อนหนอนจะมีหัวสีดำ ลำตัวสีเหลือง สีของส่วนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น เมื่อโตเต็มที่จะมีลำตัวยาว 2–2.5 เซนติเมตร ระยะหนอน 32-48 วัน

 

ลักษณะการทำลาย

หนอนหัวดำมะพร้าวเข้าทำลายใบเฉพาะระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยจะกัดแทะผิวใบแก่และสร้างใยถักพันโดยใช้มูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้นทำเป็นอุโมงค์ยาวตามแนวของใบมะพร้าวคล้ายทางเดินของปลวก ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายจะมีใบแห้ง และมีสีน้ำตาล ผลผลิตลดลง หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

 

 

การป้องกันกำจัด

1.วิธีการฉีดสารเคมีเข้าต้น (trunk injection) ป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว

ใช้สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าวอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยใช้สว่าน 5 หุน เจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้ตรงข้ามกัน ทิศเหนือ-ใต้ (เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดที่จะทำให้ดินน้ำมันละลาย) สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร เจาะรูให้ลึก 10 เซนติเมตร ใช้กระบอกฉีดยา (ไซริง) ดูดสารเคมีตามอัตราที่กำหนดใส่ลงไปในรู รูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้นานประมาณ 3 เดือน (สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรด ด้วงงวง แมลงดำหนาม และหนอนหัวดำมะพร้าว) วิธีการฉีดสารเข้าต้นด้วยชนิดและอัตราสารที่แนะนำ ไม่มีสารตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว

หมายเหตุ:  แนะนำเฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล