
จุดประสงค์ของการใช้สารจับใบที่เกษตรกรนิยมเติมลงถังพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ก็เพื่อให้สารฯ เกาะติดกับส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น
มาดูกันซิว่า สารจับใบ ทำงานยังไง และสารจับใบที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร
- ช่วยเสริมฤทธิ์การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
- ไม่ทำให้คุณสมบัติทางเคมีของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเปลี่ยนแปลงไป
- ปรับปรุงสภาพทางกายภาพของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น ช่วยให้เกิดการละลายหรือการรวมตัวเข้ากับน้ำได้ดีขึ้น ทำให้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแผ่กว้าง เกาะติดกับพื้นผิวของพื้นที่เป้าหมาย เช่น ผิวพืช ผิวแมลง โดยกลไกการลดแรงตึงผิวระหว่างอนุภาคของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและผิวสัมผัส
- คงทนต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทนต่อแสงอุลตราไวโอเลต
- ทำให้อนุภาคของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกาะติดกับส่วนต่างๆ ของพืชได้ดีขึ้น
- ลดการระเหยของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสภาพแวดล้อม เช่น จากน้ำฝน ลม แสงแดด
- โดยเฉพาะวิธีการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบใช้น้ำน้อย
- ป้องกันไม่ให้แสงอุลตราไวโอเลตทำลายสารชีวภัณฑ์ เช่น ไวรัสกำจัดหนอน ซึ่งจะตายเมื่อได้รับแสงแดด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารจับใบจะมีประโยชน์ดังที่กล่าวมา แต่การใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ในอัตราที่สูงเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อพืช‼ โดยทำให้ไขบนใบพืชถูกล้างออกและเป็นเหตุให้จุลินทรีย์เข้าทำลายได้ง่าย หรือสารจับใบบางชนิดอาจลดประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่นสารที่มีน้ำมันปิโตรเลียมเป็นองค์ประกอบห้ามนำไปผสมกับกำมะถัน หรือสารที่มีองค์ประกอบเป็นทองแดง เพราะจะทำให้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดประสิทธิภาพลง และยังทำให้พืชเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรศึกษาวิธีใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
ดร.ศรีสุข พูนผลกุล
นักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ ข้าราชการบำนาญกรมวิชาการเกษตร