
สภาพอากาศช่วงฝนต่อหนาวเช่นนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคราแป้ง ‼ ซึ่งเกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า ออยเดียม สภาพอากาศที่กล่าวถึงคือจะมีฝนน้อยลง อากาศตอนเช้าค่อนข้างเย็น มีน้ำค้างช่วงเช้าลงหนัก จนใบพืชเปียกชื้น แต่น้ำค้างจะระเหยไปในตอนสายซึ่งมีแสงแดดอ่อนๆ สภาพเช่นนี้เหมาะสมต่อการเพิ่มปริมาณของเชื้อรา เชื้อราเข้าสู่พืชได้ดี และทำให้มีการระบาดของโรคราแป้งอย่างมาก
ราแป้งเป็นราที่ขยายพันธุ์ด้วยส่วนขยายพันธุ์ที่เรียกว่า โคนิเดีย ซึ่งเกิดจากการขาดออกของปลายเส้นใยราที่อาศัยอยู่บริเวณใต้ชั้นผิวของใบอ่อน ผิวกลีบดอก และเกสรของดอกไม้ โดยเส้นใยที่แทงลงใต้ผิวพืชจะดูดน้ำเลี้ยง ส่วนเส้นใยจะปกคลุมอยู่บนผิวพืช สังเกตเห็นได้อาการเหมือนผงแป้งสีขาวบนผิวใบ ส่วนอาการบนดอกมักเห็นไม่ค่อยชัดเจนเพราะดอกมักร่วงอย่างรวดเร็ว จากนั้นราจะปล่อยโคนิเดียให้ปลิวไปตามลมเพื่อทำลายพืชต้นอื่นต่อไป
โคนิเดียที่ปลิวมาตกบนผิวพืชจะงอกเส้นใยเล็กๆ เพื่อแทงลงใต้ผิวพืช ถ้าฝนตกผิวใบเปียก โคนิเดียจะถูกน้ำฝนชะล้างออกไป การระบาดจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นช่วงฝนต่อหนาว น้ำค้างลงจัด ผิวใบเปียกชื้นพอดี มีอากาศที่แห้งและเย็น จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่โคนิเดียจะงอกเส้นใยเพื่อแทงเข้าพืชได้ เมื่อราเจริญเติบโต ดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชจนพืชหมดอาหาร รานี้ก็จะสร้างโคนิเดียเพื่อการขยายพันธุ์ในธรรมชาติต่อไปโดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
ลักษณะอาการของใบพืชที่รานี้เข้าทำลายจะบิดเบี้ยว เสียรูปร่าง ทำหน้าที่ปรุงอาหารได้ไม่สมบูรณ์ ดอกที่มีรานี้เข้าทำลายจะไม่ติดผล และร่วงหล่นเกิดความสียหาย ผลของพืชที่มีรานี้ขึ้นปกคลุม จะมีสีดำ ผลบิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์


พืชชนิดต่างๆ ที่พบว่าเป็นพืชอาศัยของโรคราแป้งมีหลากหลายชนิดมาก ได้แก่ พืชตระกูลแตง เช่น ฟัก แฟง แตงกวา แตงร้าน แตงโม แคนตาลูป ตำลึง พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วพู ถั่วลันเตา พืชตระกูลมะเขือ เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ ไม้ผลต่างๆ เช่น เงาะ มะม่วง ลำไย มะขาม ไม้ดอก เช่น กุหลาบ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าโรคราแป้งเกิดขึ้นกับพืชได้หลากหลายชนิด และต่างตระกูลอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเริ่มเข้าฤดูกาลการระบาดของราแป้งนี้เกษตรกรควรทำการป้องกันโรคตั้งแต่ต้นฤดู เพื่อไม่ให้โรคระบาดอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียหายต่อผลผลิต ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ราคาตกต่ำหรือได้ผลผลิตที่ด้อยคุณภาพ
นอกเหนือจากการตัดแต่งกิ่งเพื่อกำจัดแหล่งของเชื้อสาเหตุออกแล้ว สารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ให้ผลดีเป็นสารป้องกำจัดโรคพืชในกลุ่มไทอะโซล และสโตรบิลูริน เป็นต้น แต่การเลือกสารดังที่กล่าวมานี้ ต้องคำนึงถึงสูตรเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนอ่อนของพืชและต่อดอกได้ โดยเฉพาะระยะดอกบาน