
โรคราแป้งของสตรอเบอรี่ เกิดจากราชั้นสูงที่มีชื่อว่า โปโดสฟีร่า อะฟานิส อาการเริ่มแรกพบบนใบด้านใต้ใบ มองเห็นเป็นผงเล็ก ๆ คล้ายฝุ่นสีขาว ต่อมารอยแผลขยายขึ้นทั่วผิวใบด้านใต้ใบ ขอบใบม้วนขี้น ต่อมาเนื้อบนใบและใต้รอยแผลเปลี่ยนเป็นสีม่วง ใบที่แสดงอาการรุนแรงจะกรอบ แห้ง ผลสตรอเบอรี่จะเล็ก แกรน ไม่เจริญ ผลแข็ง บางครั้งพบผงฝุ่นของเชื้อสาเหตุบนผลด้วย
เชื้อราอาศัยอยู่บนซากใบพืชในดิน เมื่อปลูกพืชใหม่ เชื้อราเข้าทำลายต้นพืช สร้างส่วนขยายพันธุ์บนใบ จากนั้นสปอร์จะกระจายตามลมขึ้นไปยังใบเกิดใหม่ และต้นกล้าใหม่ในแปลงปลูก แล้วติดต้นกล้าไปยังพื้นที่ปลูกที่ห่างไกลออกไป สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดเป็นพื้นที่อากาศค่อนข้างเย็น ความชื้นในอากาศสูง และมีลมพัดอ่อนๆ ตลอดวัน
การควบคุมโรคโดยทั่วไป เน้นการดูแลรักษาต้นกล้าจากไหลที่เพาะเลี้ยงในพื้นที่เพาะกล้าให้ปราศจากโรคให้มากที่สุด การเฝ้าระวังอาการของโรคที่เกิดบนใบครั้งแรกและกำจัดให้ได้ในทันทีโดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ คาร์เบนดาซิม หรือ ครีโซซิม เมททิล หรือ เฮกซาโคนาโซล เป็นต้น

สารป้องกันกำจัดโรคพืชคาร์เบนดาซิม สารเคมีกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อรา สารจะเข้าไปในเส้นใย ยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยในการเจริญเติบโต ที่ช่วยการสร้างแอพเพรสซอเรียม แต่ไม่ยับยั้งการสร้างสปอร์และเส้นใยในเซลล์

สารป้องกันกำจัดโรคพืชครีซอกซิม เมททิล เป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชกลุ่มใหม่ที่ได้สารตั้งต้นจากการสกัดเห็ดพิษและได้สังเคราะห์สารออกฤทธิ์ในการควบคุมระบบหายใจของเชื้อรา สารกลุ่มนี้เป็นสารดูดซึม ละลายได้ดีในไขมัน จึงแทรกซึมผ่านชั้นไขของผิวใบพืชและสะสมอยู่ในผิวชั้นบนของพืช ละลายได้น้อยในน้ำ สารนี้ยังซึมผ่านผนังเซลล์ของเชื้อราเข้าทำลายส่วนของไมโตชอนเดรีย ยับยั้งการสร้างพลังงานและการสร้างเอนไซม์ที่ส่งต่อพลังงานภายในระบบหายใจของเชื้อรา แต่เชื้อราโรคพืชสามารถสร้างความต้านทานต่อสารต่าง ๆ ในกลุ่มเดียวกัน

สารป้องกันกำจัดโรคพืชเฮกซาโคนาโซล ออกฤทธิ์โดยการแทรกซึมเข้าสู่เส้นใยของเชื้อราและยับยั้งการสร้างสเตอรอยซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการควบคุมการทำงานต่าง ๆของเส้นใย แต่พบว่าราสาเหตุโรคสร้างความต้านทานต่อสารเคมีนี้ได้สูง หากใช้ติดต่อกัน จึงควรใช้สลับกับสารกลุ่มอื่นที่ออกฤทธิ์ต่างตำแหน่ง หรือใช้ควบคู่กับสารที่ออกฤทธิ์ต่อราหลายตำแหน่ง
วิธีการพ่นสารเคมี ให้พ่นสารเคมีหลังการปลูก 1 เดือน พ่นตัวละ 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน แล้วสลับกลุ่มยา
การเขตกรรมอื่นๆ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการรดน้ำด้วยวิธีใช้สปริงเกอร์ ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เป็นต้น