
หลายครั้งที่พี่น้องเกษตรกรมักพบว่า พืชหลักเมื่อเจริญขึ้นมักแสดงอาการโรคพืช คำถามเกิดขึ้นว่า โรคพืชมาจากไหน โรคพืชเกิดในแปลงได้อย่างไร ….ถึงแม้ว่าท่านได้เตรียมการจัดการแปลงอย่างดีตั้งแต่ต้นฤดูผลิต เพื่อลดปัญหาศัตรูพืช ป้องกันการเกิดโรคพืช แต่อยากให้ท่านได้ลองพิจารณากิจกรรมที่ดำเนินการในแปลงผลิตก่อนรอบการผลิตใหม่ และสิ่งที่อาจเป็นผลเกิดขึ้น (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ความเชื่อมโยงของการจัดการในแปลงผลิตก่อนฤดูผลิต และผลที่เกิดขึ้น
การจัดการโดยเกษตรกร | เหตุที่ดำเนินการ | ผลที่อาจเกิดขึ้น |
---|---|---|
การไขน้ำท่วมแปลง | เพื่อกำจัดวัชพืช หรือช่วยเร่งการเน่าสลายของเศษพืช | • เชื้อสาเหตุโรคพืชถูกทำลายเนื่องจากขาดอากาศ และจุลินทรีย์ในดินประเภทไม่ใช้อากาศมีปริมาณเพิ่มขึ้น |
การพักแปลงผลิต | เพื่อรอการสลายตัวของเศษพืชในแปลง | • เชื้อสาเหตุโรคพืชสามารถพัฒนาวงชีวิตต่อจนสร้างส่วนขยายพันธุ์ในเศษพืชที่ตกค้าง หากจุลินทรีย์อื่น ๆที่มีประโยชน์ เจริญไม่ทัน |
การเผาแปลง | ลดวัชพืชในแปลง และลดเศษพืชปลูกเก่า | • เชื้อสาเหตุโรคพืชลดลง แต่เป็นการทำลายอินทรียวัตถุ และทำลายจุลินทรีย์ในดิน |
การไถตากดิน | เพื่อเร่งการย่อยสลายของเศษวัชพืช ให้ลดลง | • เชื้อสาเหตุโรคพืชลดลง จุลินทรีย์บางชนิดในแปลงผลิตมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อย่อยสลายเศษซากพืชที่ตกค้าง • เศษซากพืชย่อยสลายดีขึ้น |
การปลูกระยะถี่ | เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดในพื้นที่ | • การระบายอากาศในแปลงไม่ดี มีการสะสมความชื้นในแปลง ทำให้เชื้อสาเหตุโรคพืชเจริญเพิ่มขึ้น • การจัดการในแปลงไม่ทั่วถึง • พืชเจริญได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากความหนาแน่น |
การตัดแต่งกิ่ง | เพื่อสร้างกิ่งใหม่ที่แข็งแรง ชดเชยกิ่งเก่า และเกิดใบชุดใหม่เพื่อการสะสมอาหาร | • เกิดการระบายอากาศ ลดความชื้นระหว่างทรงพุ่มหรือในทรงพุ่มได้ดี • เชื้อสาเหตุโรคพืชลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง • การลดกิ่งที่ขัดขวางการจัดการทรงพุ่มของพืช |
การจัดการของพี่น้องเกษตรกรในแปลงตามที่กล่าวถึงในตาราง ส่งผลต่อการคงอยู่ของเชื้อโรคพืชได้แตกต่างกัน เชื้อสาเหตุโรคพืชที่ได้รับผลกระทบอยู่ในกลุ่ม เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และไส้เดือนฝอย ที่ทำให้เกิดอาการโรคพืชที่สำคัญ ได้แก่ อาการรากและโคนเน่า อาการใบจุด อาการใบไหม้ อาการเหี่ยว อาการแคระแกรน อาการรากปม อาการต้นโทรม ในขณะที่เชื้อสาเหตุโรคพืชในกลุ่ม ไวรัส และไฟโตพลาสมา ได้รับผลกระทบต่อการจัดการโดยเกษตรกรที่น้อยกว่า เนื่องจากเชื้อไวรัส และไฟโตพลาสมามีการแพร่ระบาดโดยผ่านพาหะอื่นๆ
การดำรงชีวิตรอดของเชื้อสาเหตุโรคพืช
การอยู่รอดของเชื้อสาเหตุโรคพืชในสภาพแปลงในฤดูหนึ่ง ๆ มีผลต่อการเข้าทำลายรอบการผลิตในฤดูต่อไป เชื้อโรคพืชสามารถเข้าทำลายโดยอาศัย
1. ปัจจัยของเชื้อสาเหตุโรคพืชเอง
เกิดจากลักษณะของเชื้อสาเหตุโรคพืชมี และความสามารถในการทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงช่วงเวลาที่เข้าทำลายพืช โอกาสที่เกิดขึ้นได้แก่
- เมล็ดพันธุ์ หรือท่อนพันธุ์พืชมีเชื้อสาเหตุโรคพืชเข้าทำลายตั้งแต่แรก เมื่อนำส่วนขยายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาในพื้นที่ผลิต เกิดคำถามว่า..เชื้อสาเหตุโรคพืชอาศัยอยู่ได้นานเท่าใดในเมล็ด ? คำตอบคือ เชื้อสาเหตุโรคพืชมีชีวิตในเมล็ดพืชได้นานเท่ากับที่เมล็ดพืชยังมีชีวิต ตัวอย่างเช่น เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยในเมล็ดมะเขือเทศ
- พืชอาศัยข้างเคียง เช่น หญ้าหรือพืชปลูกที่หลงเหลือในแปลงผลิต ถูกเชื้อโรคใช้เป็นที่อาศัยหรือพักตัว เพื่อรอการเข้าทำลายไปยังพืชหลักที่ปลูกตามมา เช่น โรคใบไหม้ของข้าวที่สามารถพักตัวในหญ้า บางชนิดได้ ในขณะที่เชื้อสาเหตุโรคพืชที่มีพืชอาศัยกว้าง เช่น โรคกาบใบแห้ง โรคโคนเน่า โรคเหี่ยว ก็สามารถอาศัยอยู่กับพืชที่อยู่ข้างเคียงได้มากชนิด เปิดโอกาสให้รักษาชีวิตของเชื้อโรค จนกระทั่งพืชหลักเริ่มปลูก
- เมล็ดพืชที่หลงเหลือในแปลง หรือส่วนของพืชที่หลงเหลือในแปลง มีส่วนสนับสนุนการเกิดโรค เนื่องจากส่วนของเชื้อโรคที่เข้าทำลายไปก่อนและยังคงหลงเหลือซึ่งก่อให้เกิดอาการของโรคได้ในระยะต่อมา
- องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการพักตัวของเชื้อสาเหตุโรคพืช เช่นสภาพแวดล้อม ที่พักอาศัยจากเศษซากพืช ธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินหรือในพืช ระยะของเชื้อที่ได้รับผลกระทบ
2. เชื้อสาเหตุโรคพืชที่อาศัยภายนอกแปลงปลูกพืช
ปัจจัยของเชื้อสาเหตุโรคพืชในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่อาศัยหรือเกี่ยวข้องกับดินหรือวัสดุปลูก ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มเชื้อสาเหตุโรครากเน่า โคนเน่า และกาบใบแห้ง ที่สามารถอาศัยอยู่ในดินได้
- กลุ่มเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยว ที่สามารถอาศัยอยู่ในส่วนของรากพืชหรือวัชพืชได้
- กลุ่มเชื้อสาเหตุโรคใบจุดบางชนิด สามารถอาศัยเข้าไปอาศัยในส่วนของเนื้อเยื่อพืชที่อยู่ภายนอกแปลง ทำให้เชื้อมีความทนทานไม่ถูกทำลาย
3. โครงสร้างเพื่อการพักตัวของเชื้อสาเหตุโรคพืช
หลายท่านอาจยังไม่มีข้อมูลของการพักตัวของเชื้อสาเหตุโรคพืช การพักตัวของเชื้อโรคแต่ละชนิดเกิดได้แตกต่างกัน ขึ้นกับลักษณะของเชื้อ และโอกาสที่เกิดขึ้น ได้แก่
- การพักตัวของเชื้อราสามารถเกิดได้ในหลายสภาพ เช่น การพักตัวในรูปของเส้นใยโดยตรง การสร้างเป็นสปอร์ที่พักตัว หรือการพักตัวในโครงสร้างที่ห่อหุ้มตัวเชื้อรา และการสร้างเส้นใยที่มีผนังหนา การก่อให้เกิดเส้นใยที่อัดกันแน่น
- การพักตัวของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่กับพาหะในกลุ่มแมลง ไส้เดือนฝอย
ผู้ผลิตและเกษตรกรสามารถใช้แนวทางป้องกันโรคพืช ดังนี้
- การป้องกันส่วนของเชื้อโรคพืชที่ติดเข้ามาในพื้นที่ปลูก เช่น การเลือกเมล็ดหรือกิ่งพันธุ์
- การป้องกันเมื่อสภาพแวดล้อมในพืชปลูกไม่เหมาะสม เช่น การเร่งระบายน้ำหลังฝนตก การให้น้ำหลังการให้ปุ๋ยเพื่อให้ปุ๋ยละลาย การป้องกันพืชปลูกอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคพืช โดยไม่ให้ปุ๋ยในปริมาณคราวละมากเกินไป
- การป้องกันโดยใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น การใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในกลุ่มเชื้อราไตรโคเดอร์มาหรือกลุ่มแบคทีเรียแบซิลลัส
- การป้องกันโดยการบำรุงความสมบูรณ์ของพืช
ผู้ผลิตและเกษตรกรไม่ต้องแปลกใจหากท่านพบโรคในระหว่างการผลิต เนื่องจากส่วนของเชื้อโรคมีโอกาสเข้ามาในพื้นที่ได้ตลอดเวลา ดังภาพที่ 1 แต่การเกิดโรคในแต่ละพื้นที่นั้น มีระดับรุนแรงที่แตกต่างกัน การแสดงออกของโรคนั้นอาจน้อย เนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ไม่พร้อม ตั้งแต่ชนิดดิน สภาพการผลิต ระบบการดูแลพืช ชนิดของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์โดยรอบ หรือบางครั้งอาจเกิดโรคได้รุนแรงตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญของเชื้อสาเหตุโรค

ภาพที่ 1 โอกาสที่เชื้อสาเหตุโรคพืชจะเข้ามาในพื้นที่ผลิต
จากข้อมูลเห็นได้ว่า โอกาสที่เชื้อสาเหตุโรคพืชเข้าสู่แปลงเกิดขึ้นได้ตลอด การเตรียมการสำหรับจัดการโรคพืชที่ถูกต้องคือการใช้แนวทางป้องกัน ซึ่งผู้ผลิตรวมถึงเกษตรกรต้องช่วยกันพิจารณาการจัดการในแปลงเป็นสิ่งสำคัญ แนวทางหนึ่งคือ การเพิ่มอินทรียวัตถุในแปลง เพื่อไปเพิ่มธาตุอาหารที่อินทรีย์วัตถุปลดปล่อยมาเป็นระยะ ๆ พร้อมกับการเป็นที่พักอาศัยของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ คำแนะนำการใช้อินทรีย์วัตถุดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและเกษตรกรพบเห็นตามคำแนะนำเสมอ
การใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก เป็นหนึ่งในคำแนะนำเพื่อป้องกันโรคพืชในแปลง องค์ประกอบที่สำคัญของปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกคือ การมีส่วนผสมของอินทรียวัตถุ ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญคือ ช่วยปรับสภาพกรด-ด่างของดิน หรือหากใช้ร่วมกับจุลินทรีย์ปฏิปักษ์สามารถรักษาความมีชีวิตของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ได้ และยังช่วยเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ดิน ความแตกต่างของชนิดปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกคือสัดส่วนของอินทรียวัตถุที่พบในรูปของสัดส่วนอินทรีย์คาร์บอน หรืออินทรีย์ไนโตรเจน ที่มีความแตกต่างกัน ทำให้การตอบสนองของพืชจึงไม่เท่ากันขึ้นกับพื้นฐานของดินก่อนใส่สาร แต่ยังมีข้อดีอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อเกษตรกรหรือผู้ผลิตมีการใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก หรือนำอินทรียวัตถุที่จำหน่ายในท้องตลาดมาเติมลงดิน มีผลต่อการลดเชื้อโรคพืชที่พักตัวในแปลงได้ ขึ้นกับปริมาณของเชื้อโรคพืชในแปลง และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเกิดโรคพืชเช่นกัน ซึ่งคุณสมบัติของสารอินทรีย์ในการป้องกันโรคพืช ทางผู้เขียนจะได้รวบรวมนำมาเสนอต่อไป


