
เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ในรอบปีที่ผ่านมาศัตรูที่มีปัญหาโดยตลอดนอกจากจะพบเพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไก่แจ้ และเพลี้ยจักจั่นแล้ว ศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่พบระบาดเป็นประจำและเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นคือ ไรแดง ทั้งที่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะทุเรียนทางภาคใต้ เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช มีฝนตกชุกโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาปีใดฝนตกชุกมักไม่พบการระบาดของไรแดง เนื่องจากปกติแล้วเป็นที่ทราบกันดีว่าไรแดงมักจะแพ้ฝน แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าแม้ฝนจะตกต่อเนื่อง แต่ไรแดงยังคงพบการระบาดอยู่ตลอด อีกทั้งเกษตรกรยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการพ่นสารกำจัดไร ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร และล่าสุดได้มีโอกาสไปบรรยายเขตภาคอีสานที่นครราชสีมา เกษตรกรที่มาร่วมฟังบรรยายมีทั้งปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง ทุเรียน น้อยหน่า แก้วมังกร พืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย พืชผัก เช่น มะเขือเทศ พริก มะละกอ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็พบปัญหาการระบาดของไรแดงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะมะละกอและมันสำปะหลังมีปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะมะละกอ เนื่องจากจะมีไขหรือนวลที่ใบมาก การพ่นสารเคมีบางสูตร สูตร EC, EW, OD มักประสบปัญหาใบไหม้ และดอกร่วง เกษตรกรจึงหาสารเคมีมากำจัดได้ยาก ในฉบับนี้จึงขอนำเรื่องการจัดการไรศัตรูพืชอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ มาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษากัน

มาทำความรู้จักไรศัตรูพืช
ไรจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพดา(Arthropoda) เรียกให้เข้าใจง่ายๆก็คือกลุ่มของสัตว์ขาปล้อง (ปู กุ้ง กั้ง ตะขาบ กิ้งกือ ก็ถูกจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพรดา) กลุ่มชั้นอะราชนิดา (Class Arachnida) กลุ่มนี้จะมีไร (Acari) เห็บ (Tick) และแมงมุม (Spider) ในสัตว์ขาปล้องกลุ่มนี้จะมี 8 ขา แตกต่างจากแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มชั้นอินเส็กทา (Insecta) ที่มี 6 ขา
ในกลุ่มของไรยังแยกย่อยไปอีกหลายวงศ์ (Family) มีทั้งกลุ่มที่เป็นศัตรูมนุษย์และสัตว์ เช่น ไรฝุ่น ไรที่เป็นพาหะนำโรคไข้ไทฟอยด์ (Scrub typhus) ไรที่เป็นสาเหตุโรคหิดในคนและสุนัข เป็นต้น ในส่วนของไรที่เป็นศัตรูพืชจะมีแค่ 4 วงศ์ เท่านั้น ได้แก่
1.วงศ์เตตระไนชิดี้ (Tetranychidae) กลุ่มของไรแดง หรือไรแมงมุม (Spider mites, red spider mites) เป็นไรที่สร้างเส้นใยการแยกชนิดต้องมาจำแนกภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ที่พบระบาดมากในประเทศไทย เช่น กลุ่มไรสองจุด (two-spotted mites) อยู่ในสกุล Tetranychus เช่น พริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ข้าวโพด กุหลาบ สตรอเบอรี่ มะละกอ มันสำปะหลัง เผือก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสกุล เช่น Oligonychus, Eutetranychus เป็นต้น
สำหรับทุเรียนในประเทศไทย พบไรแดงรวม 3 ชนิด คือ Eutetranychus africanus (Tucker), Oligonychus biharensis (Hirst) และ Tetranychus fijiensis Hirst แต่ชนิดที่สำคัญ และเป็นศัตรูก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทุเรียนอย่างรุนแรงในปัจจุบัน คือ E. africanus หรือที่เรียกชื่อสามัญภาษาไทยว่า ไรแดงอัฟริกัน ไรชนิดนี้จะดูดทำลายอยู่บริเวณหน้าใบทุเรียน โดยเฉพาะตามแนวเส้นกลางใบ ทำให้เกิดเป็นจุดประสีขาวกระจายอยู่ทั่วไปบนใบในระยะแรก ต่อมาจุดประสีขาวนั้นจะแผ่ขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ทั่วทั้งใบทุเรียนมีอาการขาวซีดไม่เขียวเป็นมันเหมือนใบปกติ และมีคราบสีขาวของไรเกาะติดอยู่บนใบเป็นผงขาวๆคล้ายฝุ่นจับ หากการทำลายของไรยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง อาจทำให้ทุเรียนใบร่วงและมีผลกระทบต่อการออกดอกและติดผลของทุเรียนได้ ไรแดงอัฟริกันนอกจากจะเป็นศัตรูที่สำคัญในทุเรียนแล้ว ยังเป็นศัตรูที่สำคัญของพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน มะนาว ส้มโอ เป็นต้น

ทำไมเกษตรกรป้องกันกำจัดไรแดงไม่ได้ผล?
- เกษตรกรขาดการดูแลเอาใจใส่ ปล่อยให้มีการระบาดรุนแรง ซึ่งการป้องกันกำจัดแมลงหรือไรศัตรูพืชไม่มีวิธีการใดมีประสิทธิภาพ 100% ทำให้มีการออกลูกหลานระบาดต่อเนื่อง
- เกษตรกรทำการป้องกันกำจัดไม่พร้อมกัน ทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายกลับไปกลับมาจากสวนที่ไม่ทำการป้องกันกำจัด นอกจากนี้กรณีมีการปลูกพืชหลายชนิด หรือมีวัชพืช ไรศัตรูพืชสามารถใช้เป็นพืชอาศัย เนื่องจากเกษตรกรมักพ่นสารเฉพาะพืชหลักบางพืชในช่วงเวลาเดียวกัน
- เกษตรกรมีการพ่นสารเคมีบางชนิดต่อเนื่องกัน เช่น การพ่นสารกลุ่มไพรีทรอยด์โดยเฉพาะประเภทที่ 2 เช่น เฟนวาเลอเรต ไซเพอร์เมทริน อัลฟ่าไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน เดลทาเมทริน เบตาไซฟลูทริน สารกลุ่มนี้มีรายงานว่านอกจากจะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเพิ่มขึ้น (Resurgence) แล้ว งานวิจัยของผู้เขียนเองยังพบว่าสารในกลุ่มนี้ทำให้แมลงหวี่ขาว และไรแดงระบาดเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นในรอบ 1 เดือน ไม่ควรใช้สารในกลุ่มนี้ติดต่อกันเกิน 2 ครั้ง และควรหลีกเลี่ยงสารในกลุ่มนี้ในช่วงที่พบไรศัตรูพืชระบาด
- เกษตรกรมีการผสมสารเคมีหลายชนิดทั้งสารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดไร ปุ๋ยทางใบ และฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้สารที่ผสมมีความไม่เข้ากันทั้งทางเคมี หรือทางกายภาพทำให้ประสิทธิภาพลดลง หรือเสื่อมฤทธิ์ เช่น
- กรณีของสารกำจัดไรบางชนิดห้ามผสมกับสารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต หรือคาร์บาเมต อาทิเช่น ไบฟีนาเสต
- เตตระไดฟอน ห้ามผสมกับกำมะถัน (ซัลเฟอร์)
- โพรพาไกต์ ห้ามผสมกับสารอื่นเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะสารกลุ่มไวท์ออยล์ หรือปิโตรเลียมออยล์ และสารเปียกใบหรือสารจับใบ อาจทำให้เกิดเป็นพิษต่อพืช
- เฟนไพรอคซิเมต ห้ามผสมกับกำมะถัน (ซัลเฟอร์) หรือสารที่มีคุณสมบัติเป็นด่างจัด เช่น สารกำจัดเชื้อราบอร์โดมิกเจอร์ หรือปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท
หมายเหตุ ก่อนผสมสารเคมี ปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมนในถังเดียวกันควรทดสอบความเข้ากันได้ทางกายภายในเหยือกก่อน และถ้าเข้ากันได้ทางกายภาพต้องลองไปพ่นพืชในพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อดูประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช และผลกระทบที่อาจเกิดความเป็นพิษต่อพืช (phytotoxicity) ก่อนที่จะผสมใช้ในพื้นที่จริง
- กรณีผสมน้ำที่มีคุณสมบัติเป็นด่างที่มีค่า pH มากกว่า 7 ขึ้นไป ส่วนมากจะทำให้สารกำจัดแมลงและไรประสิทธิภาพลดลง อาทิเช่น อามีทราซถ้า pH 9 มีประสิทธิภาพได้แค่ 5 ชั่วโมง โพรพาไกต์ ถ้า pH มากกว่า 7 ประสิทธิภาพจะลดลง ดังนั้นควรมีการตรวจวัดสภาพน้ำก่อนผสมสารป้องกันกำจัดไร หรือแมลงศัตรูพืชทุกครั้ง (น้ำที่คุณสมบัติเหมาะสมให้มีค่า pH 5.5-7.0)
- ไรศัตรูพืชดื้อยา (ต้านทาน) เนื่องจากไรมีวงจรชีวิตสั้นมาก เช่น ไรแดงมีวงจรชีวิตแค่ 7-10 วัน ก็วางไข่ได้ จึงมีโอกาสคัดเลือกพันธุกรรมได้ง่าย การพ่นสารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์กลุ่มเดียวกันแค่ 2 -3 ครั้ง ติดต่อกัน ไรแดงก็ปรับตัวดื้อยาได้แล้ว

การจัดการสารกำจัดไรเพื่อป้องกันไรศัตรูพืชดื้อยา
เอราไมท์ 20
ชื่อสามัญ: ไพริดาเบน 20% WP (กลุ่ม 21)
คุณสมบัติ
- ออกฤิทธิ์แบบสัมผัสตาย อย่างรวดเร็ว
- กำจัดไรได้ดีในทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะตัวอ่อน
อัตราการใช้: 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

ไมทาไซด์
ชื่อสามัญ : อามีทราซ 20% EC (กลุ่ม 19)
คุณสมบัติ
- สารกำจัดไร คุมไข่ไร่ กำจัดไร ตัวอ่อน ตัวแก่
- ออกฤทธิ์แบบสัมผัส
อัตราการใช้: 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

ทานอส
ชื่อสามัญ: โพรพาไกต์ (Propargite) 57% EW (กลุ่ม 12)
ประโยชน์
- กำจัดไรศัตรูพืชทุกชนิด
- ไรแดงแอฟริกัน ไรแดงเทียมกล้วยไม้ แมงมุมแดง
- ไรสนิมส้ม ไรกำมะหยี่ ไรลำไย ไรลิ้นจี่ ไรขาวพริก ไรสองจุด ไรแมงมุมคันซาวา
- ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ถูกตัวตายและเป็นสารไอระเหย
อัตราการใช้: 15 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

เอราซัล
เป็นสารซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ชนิดเม็ด (กลุ่มอื่นๆ)
คุณสมบัติ
- ออกฤทธิ์แบบสัมผัสและทางไอระเหย
- ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง
ประโยชน์
- ออกฤทธิ์เป็นสารกำจัดไรศัตรูพืชโดยทั่วไป
อัตราการใช้: 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

ไซโฟเวอร์
คุณสมบัติ:
- ช่วยปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม (pH<5.5) ก่อนนำไปใช้ผสมสารกำจัดศัตรูพืช
- ช่วยให้สารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดที่นำมาผสมกันก่อนนำไปพ่นให้กับพืช สามารถเข้ากันได้หล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน (จากคุณสมบัติของ Emulsifier)
- ข่วยให้สารละลายศัตรูพืชเกาะจับติดใบดีและสามารถดูดซึมเข้าสู่พืชได้อย่างรวดเร็ว (จากคุณสมบัติของ Surfactant)
อัตราการใช้: 3-5 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
ใช้หลักการเดียวกันกับการป้องกันกำจัดแมลง
- ใช้วิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน เช่น วิธีเขตกรรม วิธีทางกายภาพ ชีววิธี และการใช้สารเคมี
- มีการสำรวจแปลงเพื่อเฝ้าระวังไรศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ หรือติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง ซึ่งลมจะพัดพาไรแดงและแมลงชนิดอื่นมาติดกับดัก ทำให้ทราบสถานการณ์การระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกันกำจัดได้ทัน
- เกษตรกรควรหาสารกำจัดไรศัตรูพืชที่มีกลไกการออกฤทธิ์ อย่างน้อย 3- 4 กลุ่ม (มากกว่านี้ยิ่งดี) ให้ใช้สารแต่ละกลุ่มแค่เพียง 1 ครั้ง แล้วหมุนเวียนสารที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน หรือมีบางช่วงใช้กลุ่มปิโตรเลียมออยล์ ไวท์ออยล์ มาสลับจะได้ผลกว่าการใช้สารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์กลุ่มเดียว โดยในรอบ 21 วัน เนื่องจากไรแดงมีวงจรชีวิตสั้นมากๆ แค่ 7 -10 วันก็ออกลูกหลานได้แล้ว ควรใช้สารกลุ่มเดียวกันไม่เกิน 1 ครั้ง หรือยิ่งนานกว่านี้ยิ่งจะเป็นการชะลอการดื้อยาได้ ดังตัวอย่างด้านล่าง

1 Comment