โรคราสนิมของลีลาวดี
ปัญหาที่สอบถามกันเข้ามามากเกี่ยวกับโรคราสนิมของลีลาวดีที่พบเห็นมากขึ้นหลังจากการเปลี่ยนชื่อจาก ลั่นทม เป็นลีลาวดี นี่เอง
คำถาม จุดสีเหลืองใต้ใบลีลาวดี เกิดจากอะไร
คำตอบ จุดสีเหลืองอมส้มที่พบเห็นใต้ใบลีลาวดีโดยจะพบมากบนใบแก่ก่อน แล้วใบก็หลุดร่วง เกิดจากราชั้นสูงที่ชื่อ #โคลีโอสปอเรียม ราสนิมสายพันธุ์นี้มีความพิเศษกว่าราสนิมสายพันธุ์อื่น เช่น ราสนิมยูโรมัยซีส คือสปอร์ราสนิมลีลาวดี จะมีขนาดใหญ่ ผนังหนา มีหนามยาว ล้อมรอบสปอร์ซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของรานี้ เราพบเห็นบนใบล่างๆ ก่อนที่มันระบาดขึ้นไปยังใบบนๆ
คำถาม ราสนิมชนิดนี้จะระบาดข้ามไปยังพืชผัก เช่น แตง มะเขือเทศ หรือ พริก ที่ปลูกอยู่ในแปลงได้ไหม
คำตอบ ไม่ติดต่อไป เพราะราสนิมชนิดนี้มีความเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษกับลีลาวดีเท่านั้น ชาวสวนผัก หรือพืชอื่นๆ สบายใจได้ว่ารานี้ไม่ไปทำลายพืชอื่นๆให้เกิดโรคได้ ยกเว้นพืชที่ปลูกเป็นโรคราสนิม นั่นเพราะมีราสาเหตุโรคของพืชนั้นระบาดอยู่ในแปลง หรือปลิวตามลมมาจากแปลงอื่น ที่เป็นพืชอาศัยของราชนิดเดียวกัน
คำถาม เมื่อก่อนหน้าโน้น ไม่เคยเห็นว่ามีโรคนี้เกิดขึ้นกับลั่นทมเลยนี่นะ ทำไมจึงได้พบว่ามีโรคนี้เกิดขึ้นมากในปัจจุบัน
คำตอบ สมัยก่อนต้นลั่นทมเป็นไม้ในป่า มีการนำมาปลูกในวัดวาอาราม หรือตามสวนสาธารณะ หรือในโรงเรียน ไม่มีใครเอามาปลูกในบ้าน อาจเพราะชื่อที่ไม่เป็นมงคลละมัง พันธุ์ดั้งเดิมเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีดอกสีขาว โคนกลีบดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ราสนิมเหตุของโรคอาจมีอยู่แล้วหรือไม่ก็ได้ แต่ที่เราไม่เห็นอาจเพราะมันขึ้นอยู่ในป่า และมีความทนทานต่อโรคมากกว่าเพราะสามารถปรับตัวได้ในธรรมชาติ เมื่อถึงฤดูแล้ง อากาศแห้ง ใบที่เป็นโรคหลุดร่วงไป เมื่อเข้าหน้าฝนก็แตกใบใหม่ เจริญเติบโตได้รวดเร็วและทนทานโรค
ที่เราพบเห็นโรคนี้กันมากขึ้น อาจเพราะว่าเรามีการผสมพันธุ์ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีสีสวยงามหลากหลายสี มีการเปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคลมากขึ้น และนำเข้ามาปลูกในบ้านเรือน ร้านอาหาร โรงแรม ต่างๆ สายพันธุ์ใหม่ๆ อาจไม่ต้านทานโรค และเมื่อมีการนำส่วนขยายพันธุ์เข้ามาอาจนำเชื้อสาเหตุติดมาด้วย การนำมาปลูกในบ้านเรือน ร้านอาหารหรือตามโรงแรมเหล่านี้ล้วนต้องการความสวยงามจึงมีการรดน้ำใส่ปุ๋ยมากเพื่อเร่งต้น เร่งดอกให้โตเร็ว สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการระบาด ปุ๋ยที่ใส่มากเกินไป โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ทำให้พืชอวบน้ำมาก ลีลาวดีเองก็เป็นพืชอวบน้ำอยู่แล้วด้วย จึงทำให้เหมาะสมต่อการเกิดการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี
คำถาม เราจะมีวิธีควบคุมโรคนี้ หรือกำจัดโรคนี้ได้ไหม จะใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชควบคุมมันได้อย่างไรบ้าง
คำตอบ วิธีการควบคุมโรคราสนิมลีลาวดี โดยการเก็บใบที่ร่วงอยู่ใต้ต้นออกให้พื้นที่ปลูกสะอาด โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งที่ใบเป็นโรคจะร่วงมาก เมื่อถึงฤดูฝนที่เริ่มมีการแตกใบใหม่ สปอร์ที่ค้างอยู่ใต้ใบล่างของต้นจะปลิวขึ้นไปบนใบอ่อน งอกเส้นใย และอาศัยอยู่ในเนื้อใบ ก่อนเจริญเติบโตลงมาด้านใต้ใบสร้างส่วนขยายพันธุ์ที่มีสปอร์สีเหลืองอมส้มปรากฎให้เห็นเมื่อผนังหุ้มสปอร์ปริออก อาการนี้เราจะพบเห็นได้หลังจากสปอร์เข้าไปในใบแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 1เดือน ขึ้นอยู่กับความต้านทานของพันธุ์และสภาพแวดล้อม
ดังนั้นการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเพื่อควบคุมโรคนี้ต้องปฎิบัติตั้งแต่ต้นเริ่มแตกใบอ่อน ซึ่งจะเป็นการยับยั้งสปอร์ไม่ให้มีโอกาสงอกเข้าไปได้ อย่างไรก็ตามการป้องกันกำจัดโรคด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเพียงอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมโรคได้ 100% เพราะสปอร์ของราสาเหตุงอกได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีความชื้นเหมาะสม และแทงเส้นใยเข้าพืชและไปอยู่อาศัยได้ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
สารป้องกันกำจัดโรคพืช ก็ต้องเลือกชนิดที่ใช้สำหรับควบคุมราสนิม เช่น สารกลุ่มไทอะโซล หรือ สโตรบิวลูริน และควรเป็นชนิดน้ำมัน เพราะจะสามารถสัมผัสผิวของสปอร์ที่มีหนามยาวโดยรอบได้ดีกว่าชนิดน้ำ การทำความสะอาดแปลงหรือใต้ต้น งดการรดน้ำ ลดการใช้ปุ๋ย หรือใช้ให้น้อยลง จะช่วยลดการระบาดของโรคลงได้
สารป้องกันกำจัดโรคพืช
เอราวิล
อัตราการใช้ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
เอราโปรมูเร่
อัตราการใช้ 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
เอราสตาร์ 32.5 เอสซี
อัตราการใช้ 5-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร