โรคของพืชตระกูลหอมที่เกิดจากเชื้อรา
บริเวณพื้นที่ดังกล่าวในช่วงหลังนา จะมีอากาศค่อนข้างเย็นและมีน้ำค้างตกแรง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อราหลายชนิด โรคที่สำคัญได้แก่ #โรคลำต้นเน่า ของหอมแดงและหอมแบ่ง อาจพบบนต้นหอมหัวใหญ่ได้เช่นกัน โรคนี้เกิดจากราพิเทียม อฟานิเดอมาตัม อาการของโรคที่พบคือเส้นใยสีขาวละเอียด ฟูขึ้นมาบนลำต้น และใบบริเวณใกล้ดิน มองเห็นขาวโพลนไปเกือบทั่วแปลง ก่อนลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านในโดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเย็น และมีน้ำค้างลงจัดช่วงเช้า พอสายและมีแสงแดดส่องลงมา ราที่ขึ้นฟูจะยุบตัว มองเห็นไม่ค่อยชัด แต่ต้นหอมจะช้ำใบหักล้ม และต้นเน่าตายหมดทั้งแปลง ได้ในเวลาไม่กี่วัน หากไม่มีการป้องกันไว้ล่วงหน้า และหากพบโรคแล้วจะรักษาไม่ได้ การใช้สารป้องกันในแปลงข้างเคียงเพียงเพื่อไม่ให้แปลงข้างเคียงเป็นโรคใหม่เท่านั้น
โรคของหอมต่างๆ และกระเทียมที่พบทั่วไปทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน คือ #โรคใบจุดสีม่วง เกิดจากราที่ชื่อ อัลเทอนาเรีย พอไร โดยเริ่มแรกอาการจะเป็นจุดช้ำเล็กๆ สีขาวบนใบ จุดอาจกลม หรือรี ยาวไปตามความยาวของแผ่นใบ ต่อมาแผลจะมีสีคล้ายสีฟางข้าว ขอบใบมีสีม่วงอมน้ำตาล ตรงกลางแผลที่มีอายุมากขึ้นจะพบว่ามีผงละเอียดสีดำ ใบหอมจะหักพับตรงรอยแผลและต้นจะแห้งตาย สปอร์สีดำตรงกลางแผลแพร่กระจายไปกับลม น้ำที่ใช้รดหรือแมลง การระบาดเกิดได้ดีในสภาพฝนตกที่อากาศค่อนข้างเย็น หากอาการเกิดบนหอมหัวใหญ่ที่อายุใกล้เก็บเกี่ยว จะพบอาการที่คอหรือกาบด้านนอกของหัวหอม เชื้อราจะติดไปกับหัวและแสดงอาการหัวเน่าในขณะเก็บรักษา

โรคที่พบมากบนกระเทียมและกุยช่ายคือ #โรคราสนิม ที่เกิดจากรา พักซิเนีย อัลลิไอ ซึ่งเป็นราชั้นสูงสร้างส่วนขยายพันธุ์ที่มีผนังหนา และฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อพืช ดังนั้นการใช้สารป้องกันกำจัดจึงยากมากกว่ารากลุ่มที่สร้างส่วนขยายพันธุ์ที่ชูขึ้นพ้นผิวพืช
อาการที่พบเป็นแผลจุดสีซีด คล้ายขีดเล็กๆ บนใบ ตามความยาวของแผ่นใบ แผลนูนขึ้นจากผิวใบเล็กน้อยสีเหลืองอมส้ม หรือที่เรียกว่าสีสนิม อาการของโรค จะปรากฎบนใบล่างก่อนลามขึ้นใบบนๆ แผลบนใบจะปริแตกออกภายในมีขุยสีสนิมหลุดออกมา อาการพบได้ทั้งบนใบและก้านดอก สปอร์สีสนิมระบาดไปในอากาศทางลม และความชื้นสูง ช่วยให้การระบาดเกิดได้มากขึ้น
การป้องกันกำจัดโรคของพืชตระกูลหอมที่เกิดจากเชื้อรา
- การเตรียมแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำดี เนื้อดินโปร่ง มีค่าความเป็นกรด ด่างประมาณ 6.5-7.0 ซึ่งสามารถใช้ปูนขาวปรับปรุงดินก่อนปลูก ควรมีการไถดินในแปลงกลับไปกลับมา และตากแดดสัก 3-4 แดด เพื่อให้ปริมาณของศัตรูพืชในดินลดลง
- ก่อนย้ายกล้าลงปลูก ควรแช่ต้นกล้าในสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น โปรคลอราช
- การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคต้นเน่า โรคใบจุดสีม่วง และโรคแอนแทรคโนส ด้วยสารเคมี เมตาแลกซิล ผสม คาร์เบนดาซิม และสารกลุ่มไทอะโซล หรือ โปรคลอราช หรือโพรไซมิโดน ชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อเริ่มพบอาการจุดเล็กๆฉ่ำน้ำบนใบ และพ่นซ้ำทุก 5 วัน หากยังพบว่ามีอาการให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศชื้นและเย็น การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างต่อเนื่องควรมีการสลับสารเคมีกับสารกลุ่มสัมผัส เช่น แมนโคเซบ หรือโปรปิเนบ เพื่อลดการดื้อยาของเชื้อสาเหตุ
- ส่วนโรคราสนิมของกุยช่าย และกระเทียม สารป้องกันกำจัดโรคที่ดี ได้แก่ แมนโคเซบ โปรคลอราช สารกลุ่มไทอะโซล พ่นเมื่อพืชเริ่มมีใบ 4-5 ใบ และพ่นต่อเนื่องทุก 10-14 วัน