
ข้อควรรู้ก่อนผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดในการพ่นสารคราวเดียวกัน
โดย หมอแมง
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ นิยมผสมสารหลายๆ ชนิดในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช บางครั้งอาจจะผสมปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน รวมไปด้วย การผสมสารหลายชนิดแบบนี้อาจเรียกว่า แท้งมิกซ์(Tank mixes) หรือค็อกเทล (cocktail) สมมติเกษตรกรผสมสารป้องกันกำจัดแมลง 1 ชนิด สารป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืช 1 ชนิด ปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมนพืช และสารจับใบ (สารเปียกใบ)แค่นี้ก็เป็นการผสมสารเคมีเข้าด้วยกันถึง 5 ชนิดแล้ว การผสมสารแบบนี้จริงๆ มีข้อดีเช่นเดียวกัน
ข้อดีที่ว่ามีดังนี้
1. ลดต้นทุนค่าแรง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. ลดระยะเวลาที่ใช้ในการพ่นสาร
3. ลดความสูญเสียของผลผลิตได้ทันเหตุการณ์ กรณีมีศัตรูพืชระบาดพร้อมกัน (additive effect หรือ broad spectrum)
4. ปฏิบัติง่าย สะดวกและไม่ยุ่งยากซับซ้อน
5. การผสมสารบางครั้งเพิ่มประสิทธิภาพ กรณีที่ผสมสารแล้วเกิดเสริมฤทธิ์กัน (synergistic effect)
การที่บริษัทผู้ผลิตมีการผสมสารออกฤทธิ์ 2 ชนิดแบบสำเร็จรูปนั้น ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์ให้ผลในทางบวก ที่ทำให้สารออกฤทธิ์กว้างขึ้น เช่น เอราโพรทริน 404 (สารไซเพอร์เมทริน+โพรฟีโนฟอส 4% + 40% W/V EC) , เอราไพฟอส 505 (สารคลอร์ไพริฟอส + ไซเพอร์เมทริน 50% + 5% W/V EC), เอรานูฟอส (สารลูเฟนนูรอน + โพรฟีโนฟอส 5% + 50% W/V EC )
ซึ่งสารผสมเหล่านี้จะมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เดิมสารเดี่ยวอาจออกฤทธิ์เฉพาะแมลงปากดูด หรือแมลงปากกัด กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่พอนำมาผสมสำเร็จรูป จะมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งแมลงปากกัด และแมลงปากดูด นอกจากนี้แล้ว สารบางชนิดอาจมีคุณสมบัติถูกตัวตายไม่ค่อยดูดซึม แต่พอมาผสมกันสารที่มีคุณสมบัติดูดซึมนั้น จะเป็นตัวพาหะ (carrier) ช่วยพาสารที่ไม่ดูดซึมสามารถแทรกซึมเข้าเซลพืชได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ไซเพอร์เมทริน (cypermethrin) อาจมีคุณสมบัติออกฤทธิ์แบบสัมผัสหรือถูกตัวตาย ไม่ค่อยดูดซึม พอผสมกับโฟซาโลน (phosalone) ที่มีคุณสมบัติดูดซึม ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จะเห็นได้ว่าสารคู่ผสมนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงบั่วในกล้วยไม้ที่ตัวหนอนจะอาศัยในดอกตูม ขณะที่สารเคมีทั่วไปแทรกซึมเข้าไปทำลายหนอนได้ยาก
นอกจากนี้การผสมสาร 2 ชนิด เข้าด้วยกัน อาจมีวัตถุประสงค์เป็นสารเสริมฤทธิ์ (synergistic effect) เช่น กรณีการนำสารไปเพอร์โรนิลบิวทอกไซด์ (piperonylbutoxide:PBO) ผสมกับสารกลุ่มไพรีทรอยด์บางชนิด เพื่อใช้กำจัดยุงตามบ้านเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ยุงผลิตเอ็นไซม์มิกซ์ฟังชั่นออกซิเดส(Mixed Function Oxidase) ลดน้อยลง เอ็นไซม์นี้ปกติแมลงใช้ในการย่อยสลายสารเคมี หรือที่เรียกว่าขบวนการ ดีท็อกซิไฟ (detoxify) การที่สารกำจัดยุงหรือยาฉีดยุงเติมสารนี้จะทำยุงอ่อนแอมากกว่าการใช้สารไพรีทรอยด์อย่างเดียว
จากข้อมูลข้างต้นดูเหมือนว่าการที่เกษตรกรผสมสารหลายชนิดเข้าด้วยกันเป็นสิ่งที่ดี ประหยัด ลดต้นทุน แต่ไม่จริงเสมอไป สาเหตุเพราะงานวิจัยทางด้านนี้มีน้อยมากเนื่องจากสารแต่ละชนิดผลิตมาเพื่อเป้าหมายคนละแบบ และการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้นให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะสารเดี่ยว ไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนแบบแท้งมิกซ์ ได้ จะมีเฉพาะที่ผสมแบบสำเร็จรูปเท่านั้น แต่ในทางทฤษฎีการผสมสารอาจมีข้อดีดังกล่าวข้างต้น แต่อาจเป็นเรื่องของความผิดพลาด ทำให้สูญเสีย เพิ่มต้นทุนก็ได้ เนื่องจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนใหญ่เป็นสารเคมี ดังนั้นการผสมสาร 2 ชนิดขึ้นไปจะเกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้น นอกจากผลที่ได้จะเกิดผลทางบวก (additive effect) อย่างที่กล่าวมาแล้ว อาจจะเกิดผลทางลบ (negative effect) ได้เช่นเดียวกัน ดังนี้
การผสมสารแล้วเกิดความไม่เข้ากัน (Incompatibility)
1. การเข้ากันไม่ได้ทางกายภาพ (physical incompatibility) เช่น เกิดการตกตะกอน การเกิดฟองเพิ่มมากขึ้น การเกิดเป็นครีม หรือเจลส่งผลให้หัวฉีดอุดตัน เป็นต้น
2. การเข้ากันไม่ได้ทางชีวภาพ (biological incompatibility) เช่น การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือเมทาไรเซียม ผสมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อรา (fungicides) จะทำให้สารป้องกันกำจัดเชื้อราทำลายสปอร์ของบิวเวอร์เรีย หรือเมทาไรเซียมที่เป็นเชื้อราเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการเสื่อมฤทธิ์ทันที ประเด็นนี้เกษตรกรต้องระมัดระวัง นอกจากไม่สามารถผสมกันได้แล้ว การพ่นเชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือเมทาไรเซียม ต้องทิ้งช่วงการพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราหลายๆวัน เพื่อให้บิวเวอร์เรีย หรือเมทาไรเซียมมีประสิทธิภาพเต็มที่
3. การเข้ากันไม่ได้ทางเคมี(chemical incompatibility)สารเคมีที่ผสมกันแล้วต่อต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน (antagonistic effect) โครงสร้างทางเคมีหรือโมเลกุลเปลี่ยนไปทำให้เสื่อมฤทธิ์ทั้งคู่ ไม่มีประสิทธิภาพ หรือประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะการผสมปุ๋ยทางใบรวมกับสารกำจัดแมลงมีโอกาสที่สารกำจัดแมลงจะเสื่อมฤทธิ์มีสูงมาก นอกจากนี้แล้ว อาจเกิดเหตุการณ์สารที่ผสมกันเป็นพิษต่อพืช (phytotoxicity) ที่เห็นได้ชัดเจน เช่นกรณีการใช้สารที่มีสูตรอีซี (Emusifiable concentrate : EC) แล้วผสมสารจับใบมากเกินไป หรือการผสมสารไวท์ออยล์หรือปิโตรเลียมออยล์กับสารซัลเฟอร์ จะทำให้พืชใบไหม้ ดอกร่วง ผลร่วง เป็นต้นสำหรับการเกิดพิษของสารต่อพืชนั้น นอกจากจะขึ้นกับชนิดของสาร สูตร (สูตร EC มีปัญหาเป็นพิษต่อพืชมากที่สุด รองลงมาคือสูตร WP) หรือการผสมสารแล้ว ยังขึ้นกับพืชด้วย โดยเฉพาะช่วงที่พืชเกิดความเครียด (stress) เช่น ช่วงออกดอก ติดผลอ่อน และสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาที่พ่นสารด้วย เช่น สภาพแสงแดด อุณหภูมิสูง เป็นต้น
4. การเข้ากันไม่ได้ตามช่วงเวลา (timing incompatibility)ในบางครั้งการผสมสารกำจัดแมลงผสมกับสารกำจัดเชื้อรา อาจเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ถ้าศัตรูพืชระบาดไม่พร้อมกัน เช่น มีแมลงระบาดแต่โรคไม่ระบาด หรือเชื้อราระบาดแต่แมลงไม่ระบาด หรือกรณีพ่นสาร บูโพรเฟซิน(buprofezin)+คลอร์ไพรีฟอส(chlorpyrifos) พ่นกำจัดหนอนกอข้าวในนาข้าว เนื่องจากบูโพรเฟซินเป็นสารที่เลือกทำลายเฉพาะแมลงปากดูดในอันดับโฮม็อพเทอร่า เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเท่านั้น ถ้าไม่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด จะเป็นการสิ้นเปลืองและไม่ได้ประโยชน์
5. การเข้ากันไม่ได้ทางเครื่องจักรกล (mechanical incompatibility)กรณีพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช จำเป็นต้องใช้หัวฉีดที่มีรูฉีดขนาดเล็กเพื่อให้ผลิตละอองสารที่ละเอียด บางครั้งอาจใช้ระบบการพ่นแบบน้ำน้อยที่ต้องใช้เครื่องยนต์พ่นสารแบบใช้แรงลม แอร์บลาส หรือแอร์เชียร์ แต่ระบบน้ำน้อยจะไม่เหมาะสมสำหรับการพ่นสารชีวภัณฑ์ เช่น บีที เชื้อราบิวเวอร์เรีย เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ต้องใช้ความชื้นสูงจึงเหมาะกับการพ่นระบบน้ำมาก เช่น เครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำและหัวฉีดจะต้องมีรูฉีดที่โตกว่าสารเคมี เพื่อให้ได้ละอองที่โต ถ้ารูฉีดขนาดเล็กเกินไปจะทำให้สปอร์เชื้อราบิวเวอร์เรียอุดตันหัวฉีดได้
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าการผสมสารเคมีหรือสารชีวภัณฑ์ ไม่ใช่มีข้อดีอย่างเดียว แต่มีข้อเสียมากมายที่เกษตรกรคาดไม่ถึงผลที่เกิดขึ้นไม่อาจคาดการณ์ได้ ยกเว้นเป็นคำแนะนำของผู้ผลิตที่ได้ทดลองวิจัยมาก่อน ดังนั้นกรณีที่เกษตรกรมีการผสมสารใดๆก็ตาม ควรถามผู้ผลิตก่อน นอกจากนี้เกษตรกรต้องรู้จักสังเกตว่าผสมสารแล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดการตกตะกอนหรือไม่ เกิดฟองมากเกินไปหรือเปล่าโดยอาจทดลองใส่แก้วใสที่มองเห็นได้ หากสารมีการละลายเข้ากันได้ดี ไม่ตกตะกอนแสดงว่าสารนั้นอาจผสมกันได้ แต่ถ้ามีการตกตะกอนแสดงว่าเข้ากันไม่ได้ การที่เกษตรกรผสมสารที่เข้ากันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพ หรืออื่นๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากจะเพิ่มต้นทุนแล้วที่เกษตรกรต้องพ่นบ่อยครั้งแล้ว ยังมีผลเสียที่สารเคมีจะมีการตกค้างในผลผลิต และผลอีกประการหนึ่งที่พี่น้องเกษตรกรกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบันก็คือปัญหาแมลงต้านทาน หรือดื้อยา โดยเฉพาะหนอนใยผัก แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟทั้งในกล้วยไม้และมะม่วงดังนั้นถ้าเป็นไปได้ขอแนะนำให้เกษตรกรแยกพ่นสารแต่ละชนิดจะดีกว่า
ท้ายที่สุดนี้กรณีที่จำเป็นต้องผสมสาร ควรผสมสารในภาชนะขนาดเล็กก่อน เช่น การผสมสารให้ได้ 200 ลิตร มีขั้นตอนดังนี้
1.ให้ใช้ถังพลาสติกขนาดเล็กใส่น้ำประมาณ 5 ลิตร
2. จากนั้นคำนวณสารที่ต้องใช้ต่อน้ำ 200 ลิตร เช่น สาร ก อัตราข้างฉลากแนะนำที่ 40 ซีซี(มิลลิลิตร)ต่อน้ำ 20 ลิตร จะต้องใช้ สาร ก เท่ากับ 400 ซีซี ส่วนสาร ข อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จะต้องใช้สาร ข เท่ากับ 300 กรัม
3. ให้ใส่สาร ข ที่มีสูตรผงหรือดับเบิลยูพี(WP) ก่อน โดยเทสาร ข 300 กรัมใส่ถังแล้วกวนให้เข้ากับน้ำ 5 ลิตรที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นเติมสาร ก 400 ซีซีที่เป็นสูตรของเหลว (SL หรือ SC หรือ EC) กวนอีกครั้ง จากนั้นเติมสารจับใบ แล้วกวนอีกครั้ง (กรณีผสมสูตร SL หรือ SC กับ EC ให้ผสมสูตร EC หลังสุดเสมอ)
4. เทสารผสมลงถังที่มีน้ำประมาณ 195 ลิตร กวนให้เข้ากันอีกครั้งจึงใช้พ่นโดยปั๊มลากสายหรือเทใส่ถังพ่นสารกรณีเป็นเครื่องพ่นแบบสะพายหลัง
หมายเหตุ กรณีพ่นแบบระบบน้ำมาก เช่น ในมะม่วงถ้าใช้ปั๊มลากสายซึ่งจะเป็นระบบน้ำมาก ถ้าผสมสารตามด้านบน 200 ลิตร จะพ่นได้ 20 ต้น(10 ลิตรต่อต้น) กรณีใช้เครื่องพ่นสารชนิดใช้แรงลม (Mist blower) แอร์บลาส หรือแอร์เชียร์ ซึ่งเป็นระบบน้ำน้อย จะใช้น้ำ (ประมาณ 5 ลิตรต่อต้น) ดังนั้นต้องผสมสารให้เข้มข้นขึ้น ถ้าใช้สารแบบเดียวกับด้านบน จะต้องใช้สาร ก และ ข เท่าเดิม แต่ผสมน้ำแค่ 100 ลิตร หรือในขั้นตอนที่ 4 เตรียมน้ำในถังแค่ 95 ลิตร จะทำให้เนื้อสารออกฤทธิ์ตกบนต้นมะม่วงเท่ากับระบบน้ำมาก แต่ถ้าเกษตรกรผสม 200 ลิตรแบบเดียวกับข้างต้น แล้วใช้แอร์บลาส หรือแอร์เชียร์ละอองสารเป็นระบบน้ำน้อยจะพ่นได้ถึง 40 ต้น ทำให้เนื้อสารออกฤทธิ์จะตกบนต้นมะม่วงแค่ครึ่งเดียว ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงได้
