ปัญหา ?
บ่อยครั้งมากที่ผู้ที่จำหน่ายสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช จะได้รับคำถามหรือการบ่น คำตำหนิ การต่อว่า จากเกษตรกรผู้ซื้อสารไปใช้ หรือจากร้านค้าตัวแทนจำหน่ายสินค้าเคมีเกษตร ว่าทำไมสารกำจัดวัชพืชที่ซื้อไปใช้จึงไม่ได้ผลในการกำจัดวัชพืชตามที่โฆษณา ทำไมสารกำจัดวัชพืชที่ใช้จึงทำให้พืชปลูก หรือพืชที่ปลูกใกล้เคียงเป็นพิษ ไม่เจริญเติบโตหรือแห้งตาย ?
คำถามดังกล่าวอาจให้คำอธิบายปัญหา และสาเหตุของผลจากการใช้สารที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของการใช้สารกำจัดวัชพืชดังนี้

สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) เป็นสารที่มีคุณสมบัติในการใช้กำจัดวัชพืช หรือพืชที่ไม่ต้องการให้ขึ้นในช่วงระยะใดระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีวัชพืชขึ้นแข่งขันกับการเจริญเติบโตของพืชปลูก โดยไม่ให้มีผลความเป็นพิษของสารต่อพืชหรือมีน้อยที่สุด เพื่อให้พืชปลูกมีการเจริญเติบโตที่ดี ได้ผลผลิตดีตามที่ต้องการ หรืออาจเป็นการกำจัดวัชพืชในที่ที่ไม่ต้องการให้มีวัชพืชขึ้น เช่น ที่รกร้าง ข้างถนน ทางรถไฟ โบราณสถาน ป่าไม้ สวนผลไม้ สวนยาง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ เป็นต้น
สารกำจัดวัชพืชอาจเป็นสารประเภทที่ใช้เพื่อควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืชที่กำลังงอก (pre-emergence) หรืออาจเป็นประเภทที่ใช้กำจัดต้นอ่อนวัชพืชที่งอกขึ้นมาแล้วแต่ต้นยังเล็ก (early post – emergence) หรือใช้กำจัดต้นวัชพืชที่ต้นโตแล้ว (post- หรือ late post – emergence)
สารกำจัดวัชพืชยังอาจเป็นสารชนิดที่เลือกทำลายเฉพาะวัชพืช โดยไม่เป็นอันตรายต่อพืชปลูก (ถ้าพ่นสารอย่างถูกต้องตามคำแนะนำ ทั้งชนิดของสารที่ใช้กับชนิดของพืชปลูก วิธีการใช้ อัตราการใช้ ระยะเวลาการใช้ เครื่องมือที่ใช้พ่น ฯลฯ เป็นต้น) แต่สารที่เลือกทำลายดังกล่าว อาจกลายเป็นสารไม่เลือกทำลายได้ ถ้ามีการใช้สารสูงเกินอัตรามากจนพืชนั้นไม่สามารถทนทานได้ หรือการพ่นสารที่ไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่พ่น แต่ละอองสารที่พ่นอาจปลิวไปโดนพืชอื่นที่ปลูกข้างเคียงที่ไม่ใช่พืชที่ใช้กับสารชนิดนั้น ก็จะมีผลทำให้พืชข้างเคียงนั้นเป็นพิษหรือตายได้ เช่นเดียวกับการพ่นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย ที่สามารถเป็นพิษกับพืชทุกชนิด การพ่นสารประเภทนี้ผู้พ่นจะต้องใช้ความระมัดระวังมาก ที่จะไม่ให้ละอองสารปลิวไปโดนพืชอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงที่ไม่ต้องการพ่น ทำให้พืชที่โดนสารเป็นพิษเสียหาย จนอาจเป็นข้อพิพาทระหว่างกันได้ การใช้สารกำจัดวัชพืชตามอัตราที่แนะนำหรือกำหนด อย่างถูกต้องตามวิธีการใช้ จะสามารถควบคุมหรือกำจัดวัชพืชได้โดยพืชปลูกไม่เป็นพิษ หรือสามารถทนต่อสารได้และเจริญเติบโตให้ผลผลิตเป็นปรกติ
การใช้สารกำจัดวัชพืชที่สูงกว่าอัตราที่กำหนด สามารถกำจัดวัชพืชได้ดี แต่อาจมีพิษต่อพืชปลูก ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตหรืออาจตายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนเนื่องจากการใช้สารมากเกินความจำเป็น อาจต้องทำการไถเตรียมดินใหม่ ซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกพืชใหม่ ฯ เพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น และอาจมีผลต่อการตกค้างของสารในดิน ในพืช หรือในผลผลิตพืชมากขึ้นได้

มันสำปะหลังแพ้สาร Ametryn จากแปลงอ้อยใกล้เคียง

รถแทรคเตอร์พ่นสาร

วัดปริมาณน้ำที่ใช้

จับเวลาการเดินพ่นให้คงที่

พ่นเป็นแนวเดียวต่อเนื่อง

ถั่วเหลืองแพ้สาร 2,4-D

ข้าวแพ้ clomazone


การใช้สารที่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ไม่มีผลความเป็นพิษต่อพืชปลูก แต่อาจไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีหรือได้ทั้งหมด ทำให้ยังมีวัชพืชขึ้นแข่งขันกับพืชปลูก หรืออาจจำเป็นต้องทำการกำจัดวัชพืชใหม่ด้วยวิธีอื่น หรือเพิ่มอัตราการใช้สารให้สูงขึ้น ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้วัชพืชที่ไม่ตาย ก็สามารถสร้างความต้านทานต่อสารที่ใช้ได้มากขึ้นเรี่อยๆ จนอาจทำให้พืชต้นเดิมถ่ายทอดความต้านทานไปสู่เมล็ดที่เกิดใหม่ต่อไปได้ถ้ามีการใช้สารเดิมอย่างต่อเนื่องและพืชมีความต้านทานเกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรใช้สารให้ได้ปริมาณที่จะสามารถกำจัดวัชพืชได้ และไม่เป็นอันตรายต่อพืชปลูก
นอกจากนี้การนำสารกำจัดวัชพืช ไปใช้ร่วมกับสารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือสารอื่นๆ เช่น สารกำจัดแมลง สารกำจัดโรคพืชและเชื้อรา ฮอร์โมน ปุ๋ยเคมี สารเคมีต่างๆ อาจมีผลในการลดประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืช ไม่ควบคุมวัชพืช หรือเพิ่มประสิทธิภาพสารจนพืชปลูกเป็นพิษหรือตายได้ การจะนำสารกำจัดวัชพืชไปใช้ร่วมกับสารอื่นๆดังกล่าว ควรยึดถือตามคำแนะนำการใช้ของผู้ที่ได้ทำการทดลองใช้อย่างแน่นอนแล้ว หรือตามคำแนะนำของเอกสารทางวิชาการที่เชื่อถือได้
ในการพ่นสารกำจัดวัชพืชไม่ว่าจะเป็นการพ่นในพืชปลูกหรือที่ใดๆ ผู้ทำการพ่นสารจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด และวิธีการใช้ดังนี้
ข้อกำหนดการใช้สารกำจัดวัชพืช
1. เลือกใช้ชนิดสารให้ถูกต้องตามชนิดพืชที่ปลูก และชนิดวัชพืชที่ต้องการกำจัด
2. มีเครื่องมือพ่นสารที่ถูกต้องและรู้วิธีการใช้
3. รู้อัตราการใช้ วิธีการใช้และระยะเวลาการใช้สารกับพืชที่ปลูกอย่างถูกต้อง
4. ใช้หัวฉีดเฉพาะที่ใช้กับสารกำจัดวัชพืชเท่านั้น
(หัวฉีดแบบแรงปะทะ หรือแบบสามเหลี่ยมรูปพัด)
เทคนิคในการพ่นสารกำจัดวัชพืช ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ขณะทำการพ่นสารกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีความสม่ำเสมอในการพ่น และไม่ให้เกิดความเข้มข้นของสารละลายพ่นสูงหรือต่ำกว่าอัตราที่ต้องการ ก่อนทำการพ่น ผู้ทำการพ่นจะต้องทำการทดสอบอัตราการพ่น หรือปริมาณสารละลายพ่นต่อพื้นที่ ในสภาพพื้นที่จริงที่จะทำการพ่น เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำที่จะใช้ผสมสารกำจัดวัชพืชต่อถังพ่น คือถังพ่นสะพายหลังขนาด 15 หรือ 20 ลิตร หรือถังที่ใช้ผสมก่อนพ่น เช่น ถังขนาด 200 ลิตร หรือ ถังผสมติดรถแทรกเตอร์ เป็นต้น ถ้าสามารถทราบว่าแต่ละชนิดถังดังกล่าว พ่นได้พื้นที่เท่าไหร่ ก็ใช้ปริมาณสารกำจัดวัชพืชตามอัตราการใช้ต่อพื้นที่ที่จะพ่นของแต่ละถังพ่นดังกล่าว โดยขณะทำการพ่น ยังจะต้องยึดหลักการพ่นสารกำจัดวัชพืชดังนี้
1. รักษาระดับความดันในถังพ่นคงที่
2. รักษาระดับความสูงหัวฉีดพ่นคงที่
3. เดินพ่นด้วยความเร็วคงที่
4. พ่นเป็นแนวเดียวและต่อเนื่อง ไม่ส่ายหัวฉีด ไม่พ่นซ้ำ
ระดับความดันในถังพ่น จะเป็นตัวกำหนดอัตราการไหลของสารละลายที่พ่นออกมา ถ้าแรงดันในถังสูง อัตราการไหลออกมาต่อพื้นที่ก็จะสูงทำให้อัตราความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่สูง ถ้าระดับแรงดันในถังพ่นต่ำอัตราการไหลออกมาต่อพื้นที่ก็จะต่ำทำให้อัตราความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่ต่ำ ดังนั้นขณะพ่นสาร จึงต้องรักษาระดับแรงดันในถังให้คงที่ เพื่อให้อัตราความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่คงที่ตามอัตราการใช้
ระดับความสูงของหัวฉีด กับพื้นที่พ่นในขณะพ่นก็เป็นตัวกำหนดความเข้มข้นของสารที่พ่นต่อพื้นที่เช่นเดียวกัน เนื่องจากสารละลายที่พ่นออกมาจากหัวฉีดที่เป็นแผ่นบางๆรูปพัด จะมีความกว้างของแนวพ่นคงที่ถ้าระดับความสูงของหัวฉีดกับพื้นดินคงที่ แต่ถ้ายกหัวฉีดสูงขึ้น ความกว้างของแนวพ่นจะกว้างมากขึ้น จะทำให้อัตราความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่ลดลงจากที่กำหนด แต่ถ้าลดระดับความสูงหัวฉีดลง ก็จะทำให้ความกว้างของแนวพ่นลดลง ซึ่งจะมีผลให้ความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นเกินอัตราที่กำหนด จึงจำเป็นต้องรักษาระดับความสูงของหัวฉีดให้คงที่ขณะทำการพ่น
ความเร็วของการเดินพ่นหรือความเร็วของรถที่บรรทุกเครื่องพ่น ขณะพ่นก็เป็นตัวควบคุมความเข้มข้นของอัตราการพ่นต่อพื้นที่ได้ การเดินพ่นด้วยอัตราการเดินคงที่ จะทำให้อัตราสารละลายที่พ่นออกมาต่อพื้นที่คงที่และสม่ำเสมอ แต่ถ้าอัตราการเดินเร็วขึ้น ปริมาณของสารละลายที่พ่นออกมาต่อพื้นที่ก็จะน้อยลงเท่ากับอัตราความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่ลดลง แต่ถ้าเดินพ่นด้วยความเร็วช้าลง อัตราหรือปริมาณความเข้มข้นของสารที่พ่นต่อพื้นที่จะมากขึ้นกว่าปกติเช่นเดียวกัน
การพ่นสารกำจัดวัชพืชด้วยหัวฉีดแบบแรงปะทะหรือรูปพัด มีแนวพ่นกว้างคงที่ ถ้าการเดินพ่นด้วยความเร็วคงที่ รักษาแรงดันถังพ่นคงที่ จะทำให้ความเข้มข้นหรืออัตราการพ่นคงที่และสม่ำเสมอตลอดแนวพ่น และการพ่นจะต้องพ่นเป็นแนวเดียวและต่อเนื่อง โดยไม่พ่นสารซ้ำแนวเดิม หรือพ่นส่ายหัวฉีด การพ่นซ้ำแนวเดิมหรือพ่นส่ายหัวฉีดไปมา จะทำให้เกิดการพ่นซ้ำ การพ่นซ้ำเพียงครั้งเดียว จะทำให้ความเข้มข้นของสารต่อพื้นที่เพิ่มเป็นสองเท่าของอัตราพ่นทันที ซึ่งจะมีผลต่อความเป็นพิษต่อพืชปลูกมากและน้อยไม่แน่นอน และการควบคุมวัชพืชที่ไม่สม่ำเสมอ

หัวฉีดสามเหลี่ยมรูปพัด

หัวฉีดแบบแรงปะทะ

ลักษณะแผ่นฟิล์มของหัวฉีดแต่ละชนิด
ควรพ่นสารกำจัดวัชพืชเวลาไหน ?
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการใช้สารกำจัดวัชพืชให้ได้ประสิทธิภาพ นอกจากจะเลือกใช้สารตามคำแนะนำ ใช้เครื่องพ่นที่ถูกต้อง วิธีการพ่นที่ถูกต้องแล้ว ก็คือ จะต้องพ่นสารให้ได้ตามระยะเวลาของการใช้สารนั้นๆกับพืชและวัชพืช ระยะเวลาของการใช้สาร คือระยะการเจริญเติบโตของวัชพืชที่จะทำให้สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ สามารถควบคุมวัชพืชได้โดยพืชปลูกไม่เป็นอันตรายหรือเป็นพิษ สารที่ใช้พ่นก่อนการงอกของวัชพืช จะต้องพ่นก่อนเมล็ดวัชพืชงอกขึ้นมาบนผิวดินพร้อมพืชปลูก ซึ่งอาจต้องทำการพ่นทันทีหลังปลูกและกลบเมล็ดพืชแล้ว หรือพ่นก่อนปลูกพืชที่ย้ายกล้าปลูก โดยห้ามพ่นหลังปลูกพืชและวัชพืชงอก เพราะอาจไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ และอาจเป็นพิษต่อต้นอ่อนของพืชปลูกได้ หรืออาจเป็นคำแนะนำให้พ่นหลังการงอกของวัชพืช ที่วัชพืชส่วนใหญ่อยู่ที่ระยะ 3 – 6 ใบ โดยอาจแนะนำให้พ่นคลุมไปบนต้นพืชปลูกและวัชพืชได้ หรืออาจแนะนำให้พ่นระหว่างแถวปลูก ฯ เป็นต้น การพ่นในระยะเวลาที่แนะนำดังกล่าว สารจะสามารถกำจัดวัชพืชได้ในอัตราที่แนะนำ แต่ถ้าทำการพ่นช้ากว่าระยะเวลา จะทำให้วัชพืชเจริญเติบโตมากขึ้นจนเกิดความทนทานต่อสารกำจัดวัชพืชและไม่สามารถกำจัดได้และทำให้เกิดการแข่งขันกับพืชปลูกในช่วงระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นจนทำให้พืชเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ผลผลิตลดลง การกำจัดวัชพืชหลังการเจริญเติบโตทางลำต้นของพืชปลูก อาจไม่มีผลในการทำให้พืชให้ผลผลิตได้สูง ดังนั้นจึงควรพ่นสารกำจัดวัชพืชให้ได้ตามระยะเวลาที่แนะนำ
การมีการป้องกันกำจัดวัชพืชได้ดี ทันระยะเวลา ก่อนที่จะเกิดการแข่งขันกับพืชปลูก ในช่วงระยะวิกฤติของการแข่งขันของวัชพืชต่อพืชปลูก (critical period of competition) ซึ่งก็คือช่วงระยะตั้งแต่เริ่มปลูกจนตลอดช่วงระยะการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นของพืชนั้นๆ ประกอบกับให้พืชปลูกได้รับปัจจัยการผลิตต่างๆอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่มีศัตรูพืชอื่นๆมารบกวนหรือทำลาย ก็จะทำให้พืชปลูกมีการเจริญเติบโตได้ดีอย่างเต็มที่และให้ผลผลิตสูง การไม่มีปัญหาวัชพืชในพื้นที่ปลูกหรือใกล้เคียง จะช่วยลดปัญหา โรค แมลง สัตว์ศัตรูพืชต่างๆที่จะมาทำความสูญเสียให้กับพืชปลูกได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรมีการวางแผนการจัดการวัชพืชและศัตรูพืชต่างๆให้ดีตั้งแต่ก่อนปลูกพืช


