มังคุดออกดอกแล้ว หลังจากที่รอลุ้นกันว่า ปากนกแก้วที่เห็นตรงง่ามใบ จะเป็นตาดอก หรือตาใบ หลายสวนเลิกลุ้นเพราะได้เป็นดอกกันอย่างหน้าชื่นตาบาน คราวนี้ก็มาลุ้นกันต่อว่าจะพ่นยาอะไร เพื่อกำจัด หรือป้องกันอะไรกันอีก หลังจากสืบเสาะกันว่าปีหน้านี้จะมีมังคุดทะลักทะลายออกมาล้นตลาดกันอีกไหม ถ้าเป็นจริง ชาวสวนก็ต้องทำมังคุดเกรดเอ เพราะตอนนี้มีห้างหรูเปิดใหม่หลายแห่ง ต้องการสินค้าสวยๆ เอาไว้รองรับนักช๊อบคนกล้าที่จะซื้อของแพง
ศัตรูตัวแรกๆ ที่จะรีบมา ก็คือ #เพลี้ยไฟ นะ ถ้าเค้ามาเยี่ยมเร็วแล้วกำจัดไม่ทัน ผิวต้องลายแน่ๆ คราวนี้ต้องรีบแล้ว เพราะระยะที่เพลี้ยไฟชอบมาดูดกินก็คือระยะนี้นั่นเอง ถ้าผิวลาย หูไม่เขียว ราคาก็ตก ตลาดเค้าไม่ค่อยดูหูเท่าไหร่ แต่ดูผิวนะ ขนาดผลก็งั้นๆ ต้นสอนเป็นหรือต้นยังอายุน้อยผลจะใหญ่ได้น้ำหนัก แต่เปลือกหนา ต้นอายุมากผลเล็กกว่าเปลือกบาง เนื้อสวย แต่เพลี้ยไฟมาได้ทุกต้น ชอบตอนแตกยอด ออกดอกนี่แหละ ชาวสวนควรจะป้องกันก่อนโดยการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงชนิดปากดูด โดยพ่นห่างกัน 3 วัน เพราะเพลี้ยไฟออกไข่ทุกวัน ระยะไข่ 3 วัน ดังนั้นพ่นวันแรก กำจัดตัวอ่อนที่เพิ่งออก อีก 3 วัน พ่นกำจัดตัวที่ออกจากไข่ วันที่ 1, 2 และ 3 วัน หมดพอดี ถ้าเวันไว้หลายวัน เพลี้ยไฟจะแก่มากขึ้น และกำจัดยากกว่า การเลือกใช้สารป้องกันกำจัดแมลงก็ต้องมีการสลับสารด้วยนะ เพราะสารที่ใช้แต่ละชนิดจะกำจัดได้บางตัว เช่น ยาตัวแรกกำจัดเพลี้ยไฟสายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 ยาชนิดที่สองกำจัดเพลี้ยไฟ สายพันธุ์ ที่ 2, 4, 5 เป็นต้น และชาวสวนก็ไม่ได้ทราบว่าในสวนเรามีเพลี้ยไฟสายพันธุ์ไหนมาระบาด เพราะเพลี้ยไฟมีหลายสายพันธุ์ที่มีพืชอาหารต่างๆ กัน และยังไม่นับบางสายพันธุ์ที่ดื้อยาไปแล้วด้วย

ศัตรูต่อมาก็คือ #เพลี้ยแป้ง ช่วงนี้เพลี้ยแป้งจะชอบหลบไปอยู่ในหู ซึ่งก็คือฐานรองดอกน่ะแหละ เพราะเป็นที่ร่มเย็น หลบฝนได้ เพราะถ้าฝนตกกนักไข่เปียกก็ไม่ค่อยฟัก เพลี้ยแป้งมาได้โดยมดเป็นตัวการคาบตัวอ่อนมาเลี้ยงตรงที่ผิวพืชอ่อนๆ เพื่อคอยกินน้ำหวานที่เพลี้ยถ่ายออกมา ถ้าเราดูแลมดในสวนได้ดี เพลี้ยแป้งก็น้อยลงด้วยบ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่หมดเสียทีเดียว ต้องควบคุมด้วยสารป้องกันกำจัดแบบดูดซึม เพราะเพลี้ยแป้งมีผิวที่คลุมด้วยแป้ง ยาที่เป็นน้ำจึงซึมผ่านผิวลงไปทำลายมันไม่ได้ และที่มองเห็นตัวขาวๆ นั่นน่ะ ตัวแม่มันกกลูกอ่อนไว้ข้างล่างมากกว่า 300 ตัวเชียวนะ และอาจมีแม่เพลี้ยแป้งซ้อนกันมากกว่า 1 ตัวด้วยก็ได้ มังคุดส่งออกที่มีผลสวยๆ ชาวสวนสอยอย่างดี ไม่มีช้ำ ตั้งใจขายส่งออก ปรากฎว่าพอถึงด่านกลับส่งขึ้นเครื่องบินไม่ได้ก็เพราะเจ้าเพลี้ยแป้งนี่เอง สารป้องกันกำจัดแมลงปากดูด หรือปากเขี่ยดูดเช่นเพลี้ยไฟ ก็จะเป็นกลุ่ม นิโคตินอย หรือสารเช่นฟิโปรนิล อะบาเมกติน เลือกดูว่าเหมาะกับระยะของผลแค่ไหน จึงจะไม่ตกค้างและป้องกันกำจัดได้ดี
สำหรับโรคของมังคุดก็ไม่มีอะไรมาก ชาวสวนอาจดูแลไปบ้างแล้ว คือ #โรคใบติด ที่เริ่มระบาดช่วยฝนโปรยลงมาหน่อยๆ ตอนรอให้มังคุดแตกตาและรอลุ้นว่าจะเป็นตาดอกหรือตาใบน่ะแหละ โรคใบติดของมังคุดมองเห็นง่าย เพราะใบมังคุดใหญ่ เวลาเส้นใยของราเจริญแล้วดึงใบข้างๆมาติดกัน ก็จะมองเห็นประปราย ชาวสวนที่ขยันก็จะตัดลงมาเผาไฟ ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะรู้ว่ามันจะอยู่ได้ในดินและระบาดได้อีกเมื่อมีใบอ่อนเกิดมาใหม่หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตงวดนี้ แต่ถ้าชาวสวนมีงานอื่นจนไม่มีเวลาจัดการกับมัน ก็เริ่มลงไปดูได้แล้วว่ายังมีอยู่ไหม เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ ราโรคใบติดก็จะทำให้ใบแห้ง ลูกไม่โต ไม่ได้น้ำหนัก วิธีการกำจัดก็ง่าย แค่ตัดออกมาเผา และพ่นสารกำจัดราเป็นจุดๆที่พบโรค เป็นการประหยัดยาด้วย
อย่าลืมว่าช่วงมังคุดติดผล จะต้องการ #อาหารเสริม ครบทุกตัว นอกเหนือจากปุ๋ยหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม เค้ายังต้องการแมงกานิส โบรอน และแคลเซียมจำนวนมากรวมทั้งธาตุรองและธาตุเสริมอื่นๆ พื่อสร้างผนังเซลล์ของผลที่ทำให้ผลใหญ่ และมีผิวมันสดใส