ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดกำลังพบปัญหาหนอนกัดกินใบและยอดอ่อนข้าวโพด ตั้งแต่เริ่มแทงต้นอ่อนออกจากเมล็ด บางรายพบว่ามีรอยทำลายของหนอนในกรวยใบและมีกลิ่นเน่าเหม็น จากการที่แบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำ เหลือแต่มูลหนอนให้เห็นเป็นร่องรอยไว้
หนอนที่ทางราชการกำลังเตือนภัยอยู่นี้พบว่ามีการระบาดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2559) ในประเทศแถบอาฟริกา และอินเดีย มีความเสียหายสูงมากจนได้ชื่อว่ากองทัพหนอน บ้านเรายังไม่มีรายงานการพบก็จริง แต่จากข่าวสารที่เผยแพร่การระบาด ออกจะผิดปกติเกินไป สำหรับศัตรูข้าวโพดแป้ง แม้ว่าจะยังไม่มีการพบหนอนตัวดังกล่าว แต่หนอนตัวอื่นๆ ก็กัดกินข้าวโพดของเราเช่นกัน ดังนั้นถึงอย่างไรเราก็ต้องกำจัดมันอยู่ดี
หน้าตาของหนอนที่ต้องมีการเฝ้าระวัง เป็นแมลงผีเสื้อกลางคืน วางไข่ใต้ใบเป็นกลุ่มไข่ประมาณ 150-200 ฟอง แม่ผีเสื้อตัวหนึ่งอาจวางไข่ได้ถึง 1000 ฟอง ทีเดียว กลุ่มไข่จะมีขนสีเทาอมชมพูคลุมอยู่ มีอายุการฟัก 3-5 วัน ตัวหนอนลอกคราบ 6 ครั้ง ลำตัวมีสีเขียวจางถึงสีเขียวเข้ม ลำตัวยาว 3-4 เซนติเมตร มีขา 8 ขา เมื่อโตขึ้นอาจมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมน้ำตาล และอาจมีสีเกือบดำถ้ามันอดอาหาร ข้อสังเกตว่าหนอนตัวนี้เป็นตัวที่ให้เฝ้าระวังรึไม่โดยสังเกตจากหัวของหนอนตัวโต จะเห็นเส้นบนหัวเหมือนตัว วาย Y (ภาษาอังกฤษ) ชัดเจนมากและจุดสีดำ 4 จุด หรือ 2 คู่ บนส่วนท้ายของตัวหนอน ระยะหนอนจะอยู่ที่ 14-21 วัน ขึ้นกับสภาพอากาศและพืชอาหาร ซึ่งมีถึง 80 ชนิด
หนอนตัวแก่จะเข้าดักแด้ในดิน ขนาดของดักแด้จะเล็กลง เหลือประมาณความยาว 1.3-1.7 เซนติเมตร ระยะของดักแด้อยู่ที่ 9-13 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดลำตัวยาว 1.7 เซนติเมตร ปีกคู่บนสีน้ำตาลเข้มปนเทา ปีกคู่ล่างสีเปลือกข้าวโพด มีขลิบสีน้ำตาล เข้มที่ขอบปีก
แม้ว่าหนอนที่เข้ามาทำลายข้าวโพดของเราอาจจะไม่ใช่ตัวที่ร้ายกาจตัวนี้ แต่การที่เกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดแล้วไม่ได้ผลเท่าที่เคยปฏิบัติมาก็อาจเป็นเพราะหนอนดื้อสารเคมีแล้วก็ได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ที่มาทำลายข้าวโพด ตัวใดๆ ก็ตามที่ต้องการให้ได้ผลดีก็ต้องทำควบคู่กัน โดยหมั่นตรวจแปลง หากพบกลุ่มไข่ต้องรีบกำจัดทันที สารป้องกันกำจัดแมลงที่ได้ผล ได้แก่ แลมด้า-ไซฮาโลทริน, เพอเมทริน, ฟลูเบนไดอะไมด์, คลอแรนทรานิโลโพรล, คลอร์ฟีนาเพอร์ และอินดอกซาคาร์บ
เทคนิคการใช้สารกำจัดหนอน โดยเลือกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมกับเชื้อแบคทีเรียบีที (จากแหล่งที่เชื่อถือได้) พ่นทุก7 วัน สลับกับสารเคมีอื่นๆ 3 ชนิด เช่น อาจพ่นสารเคมีชนิดที่ 1 ผสมบีที ตามด้วยสารเคมีชนิดที่ 2 ผสมบีที แล้วพ่นเฉพาะบีที รอบต่อไปพ่นสารเคมีชนิดที่ 3 ผสมบีที เช่นนี้ สลับไปเรื่อยๆ จนไม่พบการระบาดแล้ว อย่าลืมว่าหนอนกระทู้สามารถทำลายได้จนถึงระยะฝักที่มีเมล็ดเต็มฝักแล้ว
หากพบหนอนตัวเต็มวัยที่ไม่สามารถถูกกำจัดด้วยสารเคมีได้แล้ว ควรใช้วิธีการเดินเก็บหนอน โดยอาจให้เด็กๆ เก็บมาขายในราคาที่รับได้ น่าจะเป็นการกำจัดได้ถึง 100% และอาจมีราคาถูกกว่าการพ่นสารเคมีอีกด้วย หลังจากเก็บหนอนออกแล้ว เกษตรกรสามารถพ่นสารเคมีซ้ำเพื่อกำจัดหนอนตัวเล็กที่หลงเหลืออยู่อีกรอบหนึ่ง