
สารผสมสำเร็จรูปใหม่แก้ไขแมลงดื้อยา
โดย หมอแมง
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ นิยมผสมสารหลายๆ ชนิดในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช บางครั้งอาจจะผสมปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน รวมไปด้วย การผสมสารหลายชนิดแบบนี้อาจเรียกว่า แท้งค์มิกซ์ (Tank mixes) หรือค็อกเทล (cocktail) การผสมสารแบบนี้จริงๆ มีข้อดีเช่นเดียวกัน ข้อดีที่ว่ามีดังนี้
- ลดต้นทุนค่าแรง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ลดระยะเวลาที่ใช้ในการพ่นสาร
- ลดความสูญเสียของผลผลิตได้ทันเหตุการณ์ กรณีมีศัตรูพืชระบาดพร้อมกัน (additive effect หรือ broad spectrum)
- ปฏิบัติง่าย สะดวกและไม่ยุ่งยากซับซ้อน
- การผสมสารบางครั้งเพิ่มประสิทธิภาพ กรณีที่ผสมสารแล้วเกิดเสริมฤทธิ์กัน (synergistic effect)
แต่เนื่องจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนใหญ่เป็นสารเคมี ดังนั้นการผสมสาร 2 ชนิดขึ้นไปจะเกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้น นอกจากผลที่ได้จะเกิดผลทางบวก (additive effect) แล้ว อาจจะเกิดผลทางลบ (negative effect) ได้เช่นเดียวกัน ดังนี้
การผสมสารแล้วเกิดความไม่เข้ากัน (Incompatibility)
- การเข้ากันไม่ได้ทางกายภาพ (physical incompatibility) เช่น เกิดการตกตะกอน การเกิดฟองเพิ่มมากขึ้น การเกิดเป็นครีม หรือเจลส่งผลให้หัวฉีดอุดตัน เป็นต้น
- การเข้ากันไม่ได้ทางชีวภาพ (biological incompatibility) เช่น การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือเมทาไรเซียม ผสมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อรา (fungicides) จะทำให้สารป้องกันกำจัดเชื้อราทำลายสปอร์ของบิวเวอร์เรีย หรือเมทาไรเซียมที่เป็นเชื้อราเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการเสื่อมฤทธิ์ทันที
- การเข้ากันไม่ได้ทางเคมี(chemical incompatibility) สารเคมีที่ผสมกันแล้วต่อต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน (antagonistic effect) โครงสร้างทางเคมีหรือโมเลกุลเปลี่ยนไปทำให้เสื่อมฤทธิ์ทั้งคู่ ไม่มีประสิทธิภาพ หรือประสิทธิภาพลดลง
- การเข้ากันไม่ได้ตามช่วงเวลา (timing incompatibility) ในบางครั้งการผสมสารกำจัดแมลงผสมกับสารกำจัดเชื้อรา อาจเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ถ้าศัตรูพืชระบาดไม่พร้อมกัน เช่น มีแมลงระบาดแต่โรคไม่ระบาด
- การเข้ากันไม่ได้ทางเครื่องจักรกล (mechanical incompatibility) กรณีพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช จำเป็นต้องใช้หัวฉีดที่มีรูฉีดขนาดเล็กเพื่อให้ผลิตละอองสารที่ละเอียด บางครั้งอาจใช้ระบบการพ่นแบบน้ำน้อยที่ต้องใช้เครื่องยนต์พ่นสารแบบใช้แรงลม แอร์บลาส หรือแอร์เชียร์ แต่ระบบน้ำน้อยจะไม่เหมาะสมสำหรับการพ่นสารชีวภัณฑ์ เช่น บีที เชื้อราบิวเวอร์เรีย เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ต้องใช้ความชื้นสูงจึงเหมาะกับการพ่นระบบน้ำมาก เช่น เครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำ และหัวฉีดจะต้องมีรูฉีดที่โตกว่าสารเคมี เพื่อให้ได้ละอองที่โต ถ้ารูฉีดขนาดเล็กเกินไปจะทำให้สปอร์เชื้อราบิวเวอร์เรียอุดตันหัวฉีดได้ นอกจากการเข้ากันไม่ได้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว การผสมสารแบบแท้งค์มิกซ์ บางครั้งอาจเกิดความเป็นพิษต่อพืช Phytotoxicity) ส่งผลให้ใบไหม้ ดอกร่วง ผลร่วงได้
ปัจจุบันบริษัทเอราวัณเคมีเกษตร ได้ผลิตสารผสมที่มีสารออกฤทธิ์ 2 ชนิดแบบสำเร็จรูป ได้แก่ เอราโพรทริน 404 ( โพรฟีโนฟอส (profenofos 40%) + ไซเพอร์เมทริน (cypermethrin 4 % W/V EC) ) และ เอรานูฟอส ( ลูเฟนนูรอน(lufenuron 5 %)+โพรฟีโนฟอส (profenofos 50 % EC) ) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผลในทางบวก ที่ทำให้สารออกฤทธิ์กว้างขึ้น ซึ่งสารผสมทั้ง 2 สูตรนี้จะมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เดิมสารเดี่ยวอาจออกฤทธิ์เฉพาะแมลงปากดูด หรือแมลงปากกัด กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่พอนำมาผสมสำเร็จรูป จะมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งแมลงปากกัด และแมลงปากดูด นอกจากนี้แล้ว สารบางชนิดอาจมีคุณสมบัติถูกตัวตายไม่ค่อยดูดซึม แต่พอมาผสมกันสารที่มีคุณสมบัติดูดซึมนั้น จะเป็นตัวพาหะ (carrier) ช่วยพาสารที่ไม่ดูดซึมสามารถแทรกซึมเข้าเซลพืชได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ไซเพอร์เมทริน (cypermethrin) มีคุณสมบัติออกฤทธิ์แบบสัมผัสหรือถูกตัวตาย ไม่ค่อยดูดซึม พอผสมกับโพรฟีโนฟอส ที่มีคุณสมบัติดูดซึม ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น อีกประการหนึ่งคือสารผสมสำเร็จรูปที่นำเอาสาร 2 ชนิด ที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันมาผสมกัน เพื่อที่จะช่วยจัดการแมลงศัตรูพืชที่ดื้อยาได้อีกทางหนึ่ง โพรฟีโนฟอส เป็นสารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเทอเรส ตรงระบบประสาท คุณสมบัติถูกตัวตายและกินตาย ดูดซึมปานกลาง เมื่อมารวมกับสารไซเพอร์เมทริน ซึ่งเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ขัดขวางการเข้าออกของประจุโซเดียม (N+) ตรงระบบประสาท คุณสมบัติถูกตัวตาย ออกฤทธิ์เร็วที่เกษตรกรเรียกยาน๊อค (Fast knockdown) ทำให้เสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน หลังพ่นสารจะเพิ่มอัตราการตายของแมลง ในส่วนของสารลูเฟนยูรอนเป็นสารกลุ่มเบนซอยยูเรีย มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารไคตินในหนอนผีเสื้อ หนอนจะไม่ลอกคราบนอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษถ่ายทอดจากแม่ผีเสื้อไปสู่ไข่ (Transovarial effect) ทำให้ไข่ไม่ฟักเป็นตัว เมื่อรวมกับโพรฟีโนฟอส จะเสริมฤทธิ์กันทำให้อัตราการตายของหนอนจะเพิ่มขึ้น
จากจุดเด่นนี้เองผลิตภัณฑ์ของ บริษัท เอราวัณเคมีเกษตร จำกัด ทั้ง 2 สูตรนี้ น่าจะช่วยตอบโจทย์ให้เกษตรกรนำไปป้องกันกำจัดแมลงที่ดื้อยา เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย ด้วงหมัดกระโดด เป็นต้น จะเป็นวิธีการที่ดีกว่าการที่เกษตรกรเลือกผสมสาร 2 ชนิดเอง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีจากการที่สารเข้ากันไม่ได้ดังกล่าวแล้ว
